วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ชาติพลเมืองในท้องที่มณฑลราชบุรี ปี พ.ศ.2468

บทความเรื่องชาติพลเมืองในท่องที่มณฑลราชบุรี ปี พ.ศ.2468 นี้ ผมคัดลอกมาจากหนังสือสมุดราชบุรี ซึ่งจัดทำโดยมณฑลราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2468 ในการคัดลอกนี้ ผมได้พิมพ์ตัวอักษรตามแบบภาษาไทยที่ใช้เขียนในสมัยนั้น มิได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นภาษาไทยในปัจจุบันแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอาจมีคำบางคำที่เขียนแตกต่างจากปัจจุบัน

คำแนะนำก่อนอ่าน
คำว่า ในบัดนี้,ปัจจุบัน, เดี๋ยวนี้,ทุกวันนี้ ที่ปรากฏในบทความต่อไปนี้ หมายถึงปี พ.ศ.2468
จุลศักราช (จ.ศ.) = พุทธศักราช (พ.ศ.) – 1181
แผนที่จำลองประกอบจินตนาการในการอ่าน

ชาติพลเมือง

ในบัดนี้ พลเมืองในท่้องที่มณฑลราชบุรี มีประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน แบ่งออกตามส่วนที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ดังนี้

จังหวัดราชบุรี  ๒๒๕,๐๐๐ คน
จังหวัดเพ็ชร์บุรี  ๑๒๕,๐๐๐ คน
จังหวัดสุมทสงคราม  ๗๕,๐๐๐ คน
จังหวัดกาญจน์บุรี ๔๕,๐๐๐ คน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ๓๐,๐๐๐ คน

พื้นพลเมืองเดิมคงกล่าวได้ว่า เปนคนไทย (ลาวเจ้าของดินแดนเดิม) แต่ปรากฏว่ามีคนต่างชาติเข้ามาปะปนสำส่อนมาก เช่น พวกขอมและแขก เปนต้น แล้วก็เลยผสมพืชพันธ์ต่อเนื่องกันมาตลอดจนทุกวันนี้

นอกจากชาวพื้นเมืองเดิมที่กล่าวแล้ว  ยังมีพวกมอญชาวเมืองทวายและพวกลาวโซ่ง ลาวเวียงชาวศรีสัตนาคนหุต ซึ่งเปนพวกชะเลยและพวกที่มาพึ่งบรมโพธิสมภาร เข้ามาอยู่ปะปนอีกเปนจำนวนมาก ดังปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ (พ.ศ.๒๓๑๗) ในรัชกาลกรุงธนบุรี พระยาเจ่งก็ได้นำครอบครัวมอญอพยบเข้ามาครั้งหนึ่ง และเมื่อจุลศักราช ๑๑๗๗ (พ.ศ.๒๓๕๘) ในรัชกาลแห่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีครัวมอญอพยบเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเปนจำนวนถึง ๕๐,๐๐๐ คนเศษ และได้โปรดเกล้าฯ ให้สมิงสอดเบา ซึ่งเปนหัวหน้าครัวมอญในครั้งนั้น เปนพระยารัตนจักร์  พวกเหล่านี้ที่ได้เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ในแขวงเมืองกาญจน์บุรี และได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่นั้นเปนจำนวนมาก

นอกจากนั้นแขวงเมืองกาญจน์บุรี ซึ่งมีอาณาเขตต์ใกล้ชิดติดต่อกับเมืองทวาย เปนความสดวกแก่พวกมอญที่ได้รับความรบกวนเบียดเบียนจากพม่าจะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงได้พากันเข้ามาอีกเนืองๆ ในเวลาที่ได้รับความเดือดร้อน แล้วทางฝ่ายรัฐบาลสยามก็ได้จัดพวกเหล่านี้อยู่ตามเมืองด่านตำบลต่างๆ ที่เปนเมืองน่าศึกกับพม่า คือ เมืองสังขละบุรี เมืองไทรโยค เมืองท่าตะกั่ว เมืองท่ากระดาน เมืองท่าขนุน เมืองสิงห์ เมืองลุ่มสุ่มฯ ซึ่งเมืองเหล่านี้ได้มีชาวรามัญเปนเจ้าเมืองปกครองควบคุมกันตลอดมา จนเมื่อได้เปลี่ยนแปลงวิธีปกครองตามระเบียบใหม่แล้ว จึงได้ยกเลิกเมืองเหล่านี้

แม้กระนั้นในปัจจุบันนี้ พวกเจ้าเมืองกรมการของเมืองเหล่านั้นก็ยังมีตัวอยู่อีกหลายคน แต่โดยมากได้อพยบมาตั้งภูมิลำเนาว์อยู่ในเขตต์จังหวัดราชบุรี ในท้องที่อำเภอโพธารามกับอำเภอบ้านโป่งเปนจำนวนมาก  นอกจากในท้องที่จังหวัดกาญจน์บุรีและราชบุรีแล้ว พวกมอญยังมีอยู่ในท้องที่จังหวัดเพ็ชร์บุรีด้วยอีกส่วน

พวกลาวโซ่ง ลาวเวียง นั้นก็คงมีในท้องที่จังหวัดกาญจน์บุรี ราชบุรี และเพ็ชร์บุรีเปนตำบลๆ ทั่วกันทั้งสามจังหวัด พวกนี้คือพวกชะเลยที่กวาดต้อนเข้ามาในคราวชนะสงครามแต่ครั้งกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน แต่ชนพวกนี้มีการอพยบย้ายครอบครัวไปมาตามจังหวัดในพระราชอาณาจักร์บ่อยๆ เนื่องจากการหาที่ทำไร่นาที่บริบูรณ์  ผิดกับมอญที่มิได้โย้ย้ายภูมิลำเนาว์ โดยคงอยู่ประจำท้องที่ แต่การอยู่เปนหมู่เปนพวก พวกลาวโซ่ง ลาวเวียงก็คงเปนเหมือนเช่น พวกมอญ

นอกจากชนทั้งสองชาติดังกล่าวแล้ว ในท้องที่มณฑลราชบุรี ในเขตต์จังหวัดกาญจน์บุรี ราชบุรี และเพ็ชร์บุรี ยังมีพลเมืองชาติพิเศษอยู่อีก คือ พวกเกรี่ยง กร่าง ชนพวกนี้อยู่ตามภูเขาที่ต่อแดนระหว่างพระราชอาณาจักร์สยามกับพม่า  แต่ความเปนอยู่ของพวกนี้ เปนสัดเปนส่วนไม่อยู่ใกล้ชิดกับคนชาติอื่นๆ คงอยู่แต่ฉะเภาะในหมู่พวกเดียวกัน ตามภูเขาที่ป่าดง ทั้งไม่ใคร่จะตั้งบ้านเรือนอยู่เปนปรกติมั่นคงมักอพยพโย้ย้ายบ่อยๆ เมื่อมีเหตุการณ์ป่วยตายหรือโรคภัยอย่างใดขึ้น ชนพวกนี้ยังห่างแก่ความเจริญกว่าชนพวกอื่นๆ โดยเหตุที่ขาดการติดต่อ ทั้งไม่ใคร่จะกล้าเข้าในหมู่ประชุมชนในบ้านเมือง  โดยไม่ถูกอัธยาศรัยและดินฟ้าอากาศ เพราะเมื่อออกมายังภูมิประเทศที่เปนท้องทุ่งแล้ว ก็อาจจะเกิดป่วยไข้เจ็บตายได้ง่าย

ในท้องที่จังหวัดราชบุรีมีชนพวกนี้อยู่ประมาณ ๑,๒๐๐ คน ในจังหวัดกาญจน์บุรี ประมาณ ๑,๔๐๐ คน จังหวัดเพ็ชร์บุรี ประมาณ ๔๐๐ คน รวมทั้งมณฑล ๓,๐๐๐ คน

นอกจากนี้ยังมีพวกขมุอีกพวก ๑ ที่มีในท้องที่จังหวัดกาญจน์บุรี แต่มีจำนวนไม่มากนัก พวกนี้มีบ้านเรือนอยู่ตามภูเขา รูปร่างและการแต่งตัวออกจะคล้ายไปทางพวกมอญ  ตลอดจนวิธีเกล้าผมและผ้าที่นุ่งก็เปนถุง

ชนพวกเหล่านี้ มีที่รู้ภาษาไทยและพูดได้สักครึ่งจำนวน แต่โดยมากไม่ใช้พูดเลย เพราะมีความกระดากอาย

ที่มา
มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
อ่านต่อ >>