วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 2 ชีวิตที่เมืองราชบุรี

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 1 นิราศร้างห่างมาตุภูมิ
*************************************************************************

ชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนในแต่ละส่วน เดินทางอพยพครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนที่มากับกองทัพของวังหลวงนั้น บางส่วนขอตั้งหลักแหล่งที่ อ.เสาไห้  จ.สระบุรี และส่วนที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปตั้งหลักแหล่งถิ่นฐาน ณ เมืองราชบุรี

ที่มาของภาพ
http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=6667
บ้านไร่นที
ชาวไท-โยนก (ไท-ยวน) ก่อนที่จะมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองราชบุรี ได้พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ แถวบางขุนพรหม อยู่ระยะหนึ่งจึงค่อยเดินทางมายังเมืองราชบุรี โดยมาตั้งบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศตะวันออกประมาณสองกิโลเมตร เรียกว่า "หมู่บ้านไร่นที" (ภาษายวนพื้นบ้าน เรียกขานว่าเมืองละพี) ปัจจุบันบริเวณนี้ ก็คือ ตั้งแต่วัดศรีชมพู ตลอดไปจนถึงบริเวณวัดเทพอาวาส อ.เมือง จ.ราชบุรี

ในบันทึกประวัติย่อของหลวงศรีสวัสดิ์ อดีตนายอำเภอเมืองราชบุรี กล่าวถึงเรื่องราวของชาว ไท-ยวน นี้ว่า "...ปู่ทวดของข้าพเจ้า คือ เจ้ากาวิละ สมัยนั้นเกิดศึกสงคราม พวกศัตรูได้ขับไล่ต้อนมาหรือพวกไทยใหญ่(ลาว) แตกแยกสามัคคีกัน ไม่แน่นัก พวกเหล่านี้ก็ได้อพยพมาสู่เมืองหลวง คือ จังหวัดพระนครเดี๋ยวนี้ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดพระกรุณาให้แยกทัพพลเมืองเหล่านี้ ไปอยู่ทางภาคเหนือบ้าง เช่น จังหวัดสระบุรี ลพบุรี พิษณุโลก ส่วนจังหวัดราชบุรีเวลานั้น ผู้คนหัวเมืองมีน้อย จึงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพลเมืองพวกเหล่านี้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองใต้จังหวัดเรียกว่า บ้านไร่นาที (ภาษาลาวเรียกว่าบ้านราชนที) แล้วโปรดเกล้าให้ลาวเหล่านี้เลยไปอยู่ทางภาคใต้ เช่น จังหวัดนครศณีธรรมราชก็มีมาก

เฉพาะจังหวัดราชบุรีได้ทรงแต่งตั้งให้ พระณรงค์ภักดี พระวิชิตสงคราม พระบริรักษ์ภักดี ส่วนบิดาของข้าพเจ้านามเดิมว่า ทองอยู่ ได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นประทวนหรือหมายตั้งสมัยนั้นไม่ทราบเป็นหลวงอินทรพินารถ มีหน้าที่คุมลูกหมู่ทหารสังกัดขึ้นกระทรวงกลาโหม สมัยนั้นต้องเดินส่งส่วยทุกปี...."

ครูบาหลวงเตี้ย และครูบาหลวงญะ แห่งเมืองเทิง
ในบันทึกส่วนตัวของพระครูวินัยธรรม (อินท์) แห่งวัดสัตนารถปริวัตร อ.เมือง จ.ราชบุรี บันทึกไว้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2459 กล่าวถึงเรื่องการสร้างวัดสัตตนารถปริวัตร ของชาวไท-ยวนขณะที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองว่า

"...เมื่อครั้งรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองเทิง (ปัจจุบันคือ อ.เทิง อยู่ใน จ.เชียงราย) ได้รับความเดือดร้อนภัยสงครามจากพม่า จึงพาครอบครัวชาวเมืองเทิงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์ทรงโปรดให้พากันมาอยู่ที่เมืองราชบุรี  ต่อมามีภิกษุสองรูป คือ ครูบาหลวงเตี้ยและครูบาหลวงญะ ซึ่งเป็นภิกษุเชื้อสายไท-ยวน อยู่เมืองเทิง ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่เมืองราชบุรี  บรรดาญาติพี่น้องได้ร่วมใจกันสร้างวัดโพธิ์ (ปัจจุบันคือวัดสัตตนารถปริวัตร) ให้ครูบาหลวงเตี้ยจำพรรษา และสร้างวัดศรีชมพูให้ครูบาหลวงญะจำพรรษา...."

วัตสัตตนารถปริวัตร
ที่มาของภาพ http://www.panoramio.com/photo/50488760
ขยายครัวเรือน
ชาวไท-ยวนจากเมืองเชียงแสน ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านไร่นที นั้น ต่อมามีการขยายครัวเรือนออกไปตั้งหลักแหล่งอยู่อีกหลายพื้นที่ ได้แก่
  • เขต อ.เมืองราชบุรี ได้แก่ ต.คูบัว ต.ดอนตะโก ต.ดอนแร่ ต.อ่างทอง ต.ห้วยไผ่ ต.เจดีย์หัก ต.หินกอง และชาวไท-ยวน เหล่านี้ ต่างก็ได้สร้างวัดของตนเองไว้เพื่อทำบุญ  เช่น วัดคูบัว วัดดอนตะโก วัดใหญ่อ่างทอง วัดนาหนอง วัดเขาลอยมูลโค วัดใหม่นครบาล เป็นต้น
  • เขต อ.โพธาราม ได้แก่ ต.หนองโพ ต.บางกะโด มีวัดที่สร้างขึ้นคือ วัดหนองโพ วัดบางกะโด
  • เขต อ.บ้านโป่ง ได้แก่ ต.หนองปลาหมอ มีวัดที่สร้างขึ้นคือ วัดหนองปลาหมอ วัดบ่อเจ๊ก
  • เขต อ.ปากท่อ ได้แก่ ต.อ่างหิน ต.นาคอก ต.ทุ่งหลวง(บางส่วน) ต.บ่อกระดาน บ้านหนองบัว
  • เขต อ.บางแพ ได้แก่ ต.วัดแก้ว ต.บ้านหลวง
  • เขต อ.จอมบึง ได้แก่ ต.รางบัว ต.หนองนกกระเรียน บ้านชัฎใหญ่ บ้านทุ่งกว้าง บ้านรางอาวบ้านชัฎหนองหมี บ้านนาไฮ่เดียว บ้านหนองกลางเนิน
  • เขต อ.สวนผึ้ง ได้แก่ ต.ท่าเคย ต.นาขุนแสน ต.ทุ่งแหลม ต.หนองขาม บ้านป่าหวาย  

ต้นสกุลบริรักษ์, พระวิชิต และ พระณรงค์
คนไท-ยวนที่อยู่ในเมืองราชบุรีระยะแรกๆ นั้น จะได้รับการยกย่องจากทางราชการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ มีหน้าที่เก็บส่วยส่งหลวง ลูกหลานของท่านเหล่านั้นได้สืบเชื้อสายและนำบรรดาศักดิ์มาตั้งเป็นนามสกุล มาจนถึงทุกวันนี้ อาทิ
  • พระบริรักษ์ภักดี เป็นต้นสกุลของ "บริรักษ์" อยู่ที่ ต.ห้วยไผ่
  • พระวิชิตสงคราม เป็นต้นสกุลของ "พระวิชิต" อยู่ที่ ต.ดอนตะโก
  • พระณรงค์ภักดี เป็นต้นสกุลของ "พระณรงค์" อยู่ที่ ต.บางกะโด ต.หนองโพ
  • ฯลฯ
**********************************
อ่านต่อ : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 3 ผู้เฒ่าไท-ยวนบ้านปู่ฟ้า

ที่มาข้อมูล
  • อุดม สมพร . (2547). ไท-ยวน. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • อุดม สมพร. (2538). งานวิจัย : ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. กระทรวงศึกษาธิการ : กรมอาชีวศึกษา.
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จำนวนประชากร จ.ราชบุรี ณ ธันวาคม 2553

จำนวนประชากรใน จ.ราชบุรี รวมทั้งจังหวัด
  • ชาย   จำนวน 409,599 คน
  • หญิง  จำนวน 429,476  คน
  • รวมทั้งสิ้น จำนวน 839,075 คน
  • จำนวนบ้าน  268,900  ครัวเรือน 

จำนวนประชากรใน จ.ราชบุรี แยกรายอำเภอ
(เรียงจากประชากรมากไปหาน้อย)
  1. อ.เมืองราชบุรี  ชาย 96,296 คน หญิง 98,995 คน รวม 195,291 คน บ้าน 65,514 ครัวเรือน
  2. อ.บ้านโป่ง ชาย 85,669 คน หญิง 92,834 คน รวม 178,503 คน บ้าน 59,438 ครัวเรือน
  3. อ.โพธาราม ชาย 60,714 คน หญิง 65,177 คน รวม 125,891 คน บ้าน 39,990 ครัวเรือน
  4. อ.ดำเนินสะดวก ชาย 45,699 คน หญิง 494,431 คน รวม 95,130 คน บ้าน 25,411 ครัวเรือน
  5. อ.ปากท่อ ชาย 31,918 คน หญิง 33,195 คน รวม 65,113 คน บ้าน 19,949 ครัวเรือน
  6. อ.จอมบึง ชาย 29,851 คน หญิง 30,394 คน รวม 60,245 คน บ้าน 18,793 ครัวเรือน
  7. อ.บางแพ ชาย 21,515 คน หญิง 23,089 คน รวม 44,604 คน บ้าน 13,983 ครัวเรือน
  8. อ.สวนผึ้ง ชาย 19,885 คน หญิง 18,627 คน รวม 38,512 คน บ้าน 14,267 ครัวเรือน
  9. อ.บ้านคา ชาย 12,229 คน หญิง 11,482 คน รวม 23,711 คน บ้าน 8,033 ครัวเรือน
  10. อ.วัดเพลง ชาย 5,823 คน หญิง 6,252 คน รวม 12,075 คน บ้าน 3,518 ครัวเรือน

******************************************
ดู จำนวนประชากร จ.ราชบุรี ย้อนหลังเมื่อ กันยายน 2552 

ที่มา : ที่ทำการปกครองจังหวัดราชบุรี ข้อมูลจังหวัดราชบุรี ณ เดือนธันวาคม 2553
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 1 นิราศร้างห่างมาตุภูมิ

เรื่องราวของชาวไท-ยวน ในราชบุรีนี้ ผู้จัดทำได้ค้นคว้ามาจากงานวิจัยเรื่อง "ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ " ของ อาจารย์อุดม สมพร นักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ปีพุทธศักราช 2536 ซึ่งท่านทำการวิจัยแล้วเสร็จเมื่อ 5 ธันวาคม  พ.ศ.2538  นอกจากนั้นยังค้นหาเพิ่มเติมจากหนังสือ และเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออีกหลายแห่ง ดังข้อมูลอ้างอิงปรากฏไว้ในท้ายบทความนี้

ที่มาของภาพ
http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=4127.0

ยวน แห่งเมืองเชียงแสน
คำว่า “ยวน" หมายถึง ชื่อเผ่าของคนไทในล้านนา เรียก "ไทยวน"  ซึ่งแผลงเป็น "โยน" และ "โยนก" ได้ ซึ่งนามโยนกนี้เป็นนามแห่งนครในตำนาน ชื่อ "เมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ"

ปี พ.ศ.2345 พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าโปรดให้ ฮินแซะหวุ่น เป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีพระยากาวิละ เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงทราบข่าวศึก  จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพยอกกองทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ โดยมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช คุมกองทัพของวังหลวง และมีกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระองค์เจ้าลำดวน  และพระองค์เจ้าอินทปัต คุมกองทัพของวังหน้า

กองทัพของวังหน้าเข้าตีค่ายพม่าที่ยึดเมืองเชียงใหม่อยู่ได้สำเร็จ กองทัพพม่าแตกพ่ายหนีไปซ่องสุมกำลังอยู่ในเมืองเชียงแสน  ส่วนกองทัพของวังหลวง ซึ่งมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช คุมอยู่ ทำการรบไม่เข้มแข็ง กระพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงลงโทษให้นำทัพขึ้นไปปราบกองทัพพม่าที่ เมืองเชียงแสน และให้ขับไล่ออกจากเขตล้านนาไทยให้จงได้ เหตุที่ต้องขับไล่ให้ได้ เพราะสมัยนั้น พม่าใช้เชียงแสนเป็นฐานหลักในการควบคุมเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ตลอดถึงรัฐของชาวไทยใหญ่ในบริเวณนั้น 

ห้ากองทัพล้อมเมืองเชียงแสน
พ.ศ.2546 กองทัพของวังหลวง ของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช เข้าล้อมเมืองเชียงแสน และขณะเดียวกันก็มีกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ และเมืองเวียงจันทร์ ยกกองทัพขึ้นไปสมทบ เพื่อจะตีเมืองเชียงแสนคืนจากการยึดครองของกองทัพพม่าให้ได้  รวมจำนวนกองทัพที่ล้อมเมืองเชียงแสนนี้มีถึงห้ากองทัพ

เดือนห้า ปีชวด พ.ศ.2437
ชาวเมืองเชียงแสนขาดแคลนเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยาก ต้องฆ่าช้างม้า วัว ควาย กินเป็นอาหารจนเกือบจะหมดสิ้น ชาวเชียงแสนก่อการกบฎกองทัพพม่า พากันเปิดประตูเมือง ให้กองทัพแห่งสยามประเทศทั้งห้าทัพ เข้ายึดเมืองฆ่าฟันพม่า จนแตกพ่ายหนีออกไปจากเมืองเชียงแสนจนหมดสิ้น นาขวา แม่ทัพพม่าที่ถูกแต่งตั้งให้นั่งปกครองเมืองเชียงแสน ต่างก็พาครอบครัวหนี

กองทัพแห่งสยามประเทศได้รื้อกำแพงเมือง เผาบ้านเผาเรือนจนวอดวาย เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยและซ่องสุมกำลังของพวกพม่าอีกต่อไป หลังจากนั้นได้อพยพชาวเมืองเชียงแสนไปตั้งหลักแหล่งหาที่อยู่อาศัยใหม่ต่อไป

นิราศร้างห่างมาตุภูมิ
กองทัพแห่งสยามประเทศได้รวมรวบชาวเชียงแสนได้ประมาณ 23,000 คนเศษ จัดการแบ่งครัวเรือนเหล่านี้ออกเป็นห้าส่วน เดินทางอพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ยังเมืองของกองทัพทั้งห้า ดังนี้
  • กองทัพเมืองเชียงใหม่ -ตั้งหลักแหล่งใหม่บริเวณ บ้านฮ่อม บ้านเมืองสารท บ้านเจียงแสน
  • กองทัพเมืองน่าน - ตั้งหลักแหล่งใหม่บริเวณ อ.เวียงสา
  • กองทัพเมืองลำปาง - ตั้งหลักแหล่งบริเวณวัดปงสนุก วัดเชียงราย
  • กองทัพเมืองเวียงจันทร์ - ตั้งหลักแหล่งที่เมืองเวียงจันทร์ 
  • กองทัพของวังหลวง  -  ตั้งหลักแหล่งที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี และ เมืองราชบุรี
ชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนในแต่ละส่วน เดินทางอพยพครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนที่มากับกองทัพของวังหลวงนั้น บางส่วนขอตั้งหลักแหล่งที่ อ.เสาไห้  จ.สระบุรี และส่วนที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปตั้งหลักแหล่งถิ่นฐาน ณ เมืองราชบุรี

*******************************************
อ่านต่อ : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 2 ชีวิตที่เมืองราชบุรี

ที่มาข้อมูล
  • ศศิศ.(2550)."ยวน" ผู้นิราศร้างห่างมาตุภูมิ.[Online]. Available :http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=4127.0. [2554 สิงหาคม 24 ].
  • อุดม สมพร . (2547). ไท-ยวน. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • อุดม สมพร. (2538). งานวิจัย : ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. กระทรวงศึกษาธิการ : กรมอาชีวศึกษา.
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 4

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 3
********************************************************


กะเหรี่ยงในยุคไทยตะนาวศรี
ในระยะเวลาประมาณปี พ.ศ.2511 พื้นที่ อ.สวนผึ้ง เป็นเขตพื้นที่สีชมพู เพราะเกิดจากการแทรกซึมของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ในแนวชายแดนไทยเขตป่าและภูเขาในภาคตะวันตก  รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จะหลบหนีเข้าป่า จ.ราชบุรีเป็นพื้นที่จรยุทธพื้นที่หนึ่งที่ติดต่อจาก จ.เพชรบุรี ผ่านขึ้นไปทาง จ.กาญจนบุรี เริ่มต้นจากผืนป่ารอยต่อ อ.ปากท่อ ผ่านบังกะม่า โป่งกระทิง พุน้ำร้อน ข้ามเขาจมูกไปยังบ้านบ่อเก่า  สวนผึ้ง ผ้่านทุ่งกระต่าย ท่ากุลา ห้วยคลุม ออกไปทุ่งกระถิน โกรกสิงขร ด่านทับตะโก ทุ่งแฝก  แก้มอ้น หนองปรือ ด่านมะขามเตี้ย หนองตากยา เข้าเขต จ.กาญจนบุรี

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 20
ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม  กิตติขจร ได้จักส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 20 (นพค.) ของ กรป.กลาง กองบัญชาการทหารสูงสุด ประกอบไปด้วยกำลังพลจาก 3 เหล่าทัพ และพลเรือนจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นแถบชายแดนตะวันตก ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

นพค.20 เข้าปฏิบัติงานที่สวนผึ้ง วันที่ 20 มี.ค.2511 ขณะนั้นที่สวนผึ้ง มีนายระเอิน  บุญเลิศ เป็นกำนันตำบลสวนผึ้ง ภารกิจหลักคือ การเข้าช่วงชิงมวลชนในเขตพื้นที่เป้าหมาย คือ ต.ด่านทับตะโก ต.สวนผึ้ง อ.จอมบึง โดยใช้การปรับปรุงและเปิดเส้นทางระหว่างหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปได้สะดวกและเพื่อให้สามารถติดต่อกับทางราชการได้สะดวกขึ้นด้วย

กำเนิด"ไทยตะนาวศรี"
นโยบายที่รัฐบาลในสมัยนั้นใช้กับชนกลุ่มน้อย คือ การกลมกลืนทางวัฒนธรรมและการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสรุปใจความได้ว่า "เพื่อจะให้ไม่มีชาวเขาอยู่ และจะมีแต่ชาวไทยทั้งหมด" รัฐบาลจึงมีการบัญญัติศัพท์เรียกกะเหรี่ยงสวนผึ้งว่า "ไทยตะนาวศรี"  โดบรัฐบาลทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนชาวเขาในช่วงปี พ.ศ.2512 เพื่อต้องการทราบว่ามีจำนวนเท่าใดของชาวเขาในประเทศไทย และเพื่อสะดวกในการควบคุมไม่ให้เกิดเงื่อนไขชักจูงไปเป็นพวกคอมมิวนิสต์ และได้ทำการอพยพชาวเขาลงมาสู่ที่ราบ บริวเญหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านพุระกำ จัดหาที่ทำกินให้ และจัดทำเหรียญชาวเขาแจกจ่ายให้กะเหรี่ยงทุกคน 

เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน
http://rb-book.blogspot.com/2011/08/blog-post_19.html

ในระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม  พ.ศ.2519 ได้มีการจัดอบรมลูกเสือชาวบ้านให้แก่ ชาวไทยตะนาวศรี ซึ่งนับเป็นลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 123/3 การอบรมในครั้งนี้ได้หลอมละลายชาวไทยตะนาวศรี เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวกะเหรี่ยงได้แสดงออกถึงความเป็นไทยที่แท้จริง  ที่มีความรักชาติ รักแผ่นดินไทย และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทยในหมู่เหล่าใด

กะเหรี่ยงอพยพสู่บ้านถ้ำหิน
พ.ศ.2538 กองทัพพม่าเริ่มบุกโจมตีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen Naาtional Union -KNU)  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2540 มีกะเหรี่ยงอพยพลี้ภัยกว่า 102,000 คน ได้เข้ามาหลบภัยอยู่ในประเทศไทย ในที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งทััวประเทศ  โดยที่ จ.ราชบุรี ได้เข้ามาลี้ภัย ณ  "ที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน" อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังมีกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัยอยู่ในบ้านถ้ำหินนี้ อยู่อีกกว่า 4,800 คน  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด
ปัจจบันชาวกะเหรี่ยง ถูกบันทึกไว้เป็น 1 ใน 8  ชาติพันธ์ของจังหวัดราชบุรี โดยเรียกกันว่า "ชาวไทยกะเหรี่ยง" ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงยังมีการค้นหาประวัติศาสตร์ของเขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไว้ถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้แก่ลูกหลานและชาวโลกได้ฟัง อีกทั้งยังมีการสืบทอดประเพณีศิลปวัฒนธรรม โดยเครือข่ายและองค์กรพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องราวของกะเหรี่ยงนี้ คือ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงแท้ และเป็นผู้ทำงานวิจัยเรื่อง  " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " ในโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546  ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). ผู้อ่านสามารถติดต่อกับท่านได้ทาง Facebook ของท่าน (พิมพ์ค้นหา วุฒิ บุญเลิศ)


*******************************************************
อ่านเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าราชบุรี (ล่าสุด 7 ก.ค.2554)

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดพื้นที่ประกาศ ประเภทการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในเขตพื้นที่ประกาศและจำนวนคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าฯ เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2554 โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับ จ.ราชบุรี จำนวน 2 กองทุน คือ
  1. ประเภท ก. "กองทุนไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี 1" โดยมีผู้ประกอบการ 2 ราย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด และบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (ดาว์นโหลดเอกสาร)
  2. ประเภท ข. "กองทุนไฟฟ้า บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด" โดยมีผู้ประกอบการ 1 ราย คือ บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (ดาว์นโหลดเอกสาร)

ที่มาของภาพ
http://www.panoramio.com/photo/26732679
 กองทุนไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี 1
ตำบลที่อยู่พื้นที่ประกาศ จำนวน 9 ตำบล ประกอบด้วย
  1. ตำบลสามเรือน อ.เมือง จ.ราชบุรี
  2. ตำบลพิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
  3. ตำบลบางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
  4. ตำบลท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  5. ตำบลบ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  6. ตำบลแพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  7. ตำบลวัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี
  8. ตำบลบ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  9. ตำบลดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) มีจำนวน 27 คน ประกอบด้วย
กรรมการจากผู้แทนภาคประชาชน 19 คน คัดเลือกมาจาก
  1. ตำบลสามเรือน อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 4 คน
  2. ตำบลพิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 2 คน
  3. ตำบลบางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี  จำนวน 1 คน
  4. ตำบลท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 1 คน
  5. ตำบลบ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จำนวน 4 คน
  6. ตำบลแพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จำนวน 2 คน
  7. ตำบลวัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี จำนวน 1 คน
  8. ตำบลบ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  จำนวน 2 คน
  9. ตำบลดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จำนวน 2 คน
กรรมการจากผู้แทนภาครัฐ 6 คน ประกอบด้วย
  1. ผู้แทนกระทรวงพลังงาน  จำนวน 2 คน
  2. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 1 คน
  3. ผู้แทนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีแต่งตั้ง จำนวน 3 คน
กรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ  จำนวน 2 คน

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.)
ในแต่ละตำบลทั้ง 9 ตำบลต้องมีคณะกรรมการฯ ของแต่ละตำบล (ขั้นต่ำจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน) ที่มาของ คพรต. ประกอบด้วย
  1. คณะกรรมการฯ จากผู้แทนแต่ละหมู่บ้าน (ในประกาศเรียกว่า คพรต.ภาคประชาชน)  มีจำนวนเท่ากับจำนวนหมู่บ้านในเขตตำบลนั้นๆ เช่น ตำบล ก. มี 9 หมู่บ้าน จะต้องมีกรรมการฯ เป็นผู้แทนคนในแต่ละหมู่บ้านๆ ละ 1 คน รวม 9 คน
  2. คณะกรรมการฯ อื่นๆ (ในประกาศเรียกว่า คพรต.อื่นๆ)  เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนสถานศึกษา  ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนเครือข่ายชุมชน ผู้แทนสภาเยาวชน ผู้แทนศาสนา ผู้แทนสื่อมวลชน มีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสามของ ครพต.ทั้งหมด เช่น ตำบล ก. นี้จะคัดสรรคณะกรรมการฯ ประเภทนี้ได้ไม่เกิน 4 คน ก็คือ 4 คนจากคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 13 คน (9 คน+4  คน)

 กองทุนไฟฟ้า บริษัท ไตรเอนเนอจี้ จำกัด
ตำบลที่อยู่ในพื้นที่ประกาศ จำนวน 6 ตำบล ประกอบด้วย
  1. ตำบลเจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี
  2. ตำบลดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี
  3. ตำบลห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  4. ตำบลดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  5. ตำบลหินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
  6. ตำบลเกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี
คณะกรรมพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) มีจำนวน 19 คน ประกอบด้วย
คณะกรรมการจากผู้แทนภาคประชาชน จำนวน 13 คน คัดเลือกมาจาก
  1. ตำบลเจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 2 คน
  2. ตำบลดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี  จำนวน 1 คน
  3. ตำบลห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 3 คน
  4. ตำบลดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 2 คน
  5. ตำบลหินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 4 คน
  6. ตำบลเกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 1 คน
คณะกรรมการจากผู้แทนภาครัฐ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย
  1. ผู้แทนกระทรวงพลังงาน จำนวน 1 คน
  2. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 1 คน
  3. ผู้แทนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีแต่งตั้ง จำนวน 3 คน
กรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ  จำนวน 1 คน

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.)  -ไม่มี-


*******************************************
ความรู้เพิ่มเติม
  • เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ คือ เงินของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องรับภาระเพื่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทผลิตไฟฟ้า มีหน้าที่นำเงินส่งเข้ากองทุนเป็นรายเดือน โดยมีอัตรากำหนดตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ ดังนั้นในแต่ละพื้นที่จึงมีขนาดของเงินกองทุนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงไฟฟ้า
  • ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2554 คณะกรรมการประจำหมู่บ้านหรือคณะกรรมชุมชน จะจัดให้มีการประชาคม ตามวันเวลา และสถานที่ ที่กำหนด และจัดให้มีการประชุมผู้แทนหมู่บ้าน/ชุมชนในตำบล เพื่อสรรหา คพรฟ. และ คพรต. ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน 2554
ที่มาข้อมูล :
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน. (2554). กองทุนพัฒนาไฟฟ้า. [Online]. Available :http://portal.erc.or.th/PDFPortal/Login.aspx. [2554 สิงหาคม 16 ].
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 3

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 2
*********************************************************
นายด่านเจ้าขว้าว
ชาวกะเหรี่ยงในอดีตมักได้รับมอบหมายให้เป็นนายด่านของสยามประเทศตามแนวขอบชายแดน คอยแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวของกองทัพประเทศพม่าให้เมืองหลวงทราบ  โดยเฉพาะที่ราชบุรี มีด่านที่สำคัญอยู่ด่านหนึ่ง ชื่อว่า "ด่านเจ้าขว้าว" (บางเอกสารเขียน ด่านเจ้าเขว้า) ตั้งอยู่บริเวณเหนือ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนเกี่ยวข้องกับการรบกับพม่าหลายครั้งตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องด่านเจ้าขว้าว นี้ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ น่าจะทราบเรื่องราวและประวัติศาสตร์ได้ดี ท่านได้เขียนบทความเพิ่มเติมไว้ใน "ภาพเก่าเล่าอดีต : ด่่านประตูสามบาน" ท่านสันนิษฐานว่าด่านเจ้าขว้าวอาจจะเป็นด่านประตูสามบาน นี่เอง ซึ่งท่านก็ยังไม่แน่ใจนัก ลองอ่านเพิ่มเติมดูได้ครับ (ดูรายละเอียด)

ชาวกะเหรี่ยงที่ดำรงตำแหน่งนายด่านเจ้าขว้าว
ชาวกะเหรี่ยงที่ดำรงตำแหน่งนายด่านเจ้าขว้าว นี้ เป็นการเรียบเรียงมาจากความทรงจำของกะเหรี่ยงผู้เฒ่า ซึ่งสามารถจดจำได้ 3 ท่านคือ
  1. หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งเลี่ยงเฮ่) ต้นตระกูล "คุ้งลึงและบุญเลิศ" มีบุตรชาย ชื่อ พุ่งมั่งตุงหรือนายถึก ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านบ่อ ประมาณปี พ.ศ.2444
  2. หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งทองดิ่ง) เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพุ่งเลี่ยงเฮ่
  3. หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งวงลา) พุ่งวงลานี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลสวนผึ้งคนแรก (ประมาณ พ.ศ.2444 เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5)
ตำแหน่งหลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ นายกองด่านเจ้าขว้าว นี้ได้เบี้ยหวัดเป็นรายปี เช่นเดียวกับนายกองด่านชายแดนสังขละบุรี และต้องลงไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เมืองราชบุรีทุกๆ 3 ปี

ด่านประตูสามบาน
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับภาพ
เหตุการณ์สำคัญของชาวกะเหรี่ยง
บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาวกะเหรี่ยงหลังจากมีการปฏิรุปการปกครองในช่วงรัชกาลที่ 5 พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้
  • 20 ธันวาคม พ.ศ.2438 หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ ผู้นำกะเหรี่ยงสวนผึ้งได้พานายพรานชาวกะเหรี่ยงนำของป่าไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ในวโรกาสเสด็จประพาสถ้ำมุจลินท์ (ถ้ำจอมพล ในปัจจุบัน)  
  • พ.ศ.2444 เป็นต้นมา ชาวกะเหรี่ยงเริ่มเข้าสู่ระบบวิถีสังคมไทย รัฐได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นแบบมณฑล ผู้นำกะเหรี่ยงแปรสภาพจากนายกองด่านมาทำหน้าที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำแหน่งนายกองด่านหมดภาระหน้าที่ เพราะรัฐไทยและรัฐพม่าไม่มีข้อขัดแย้งกัน การปักปันเขตแนวชายแดนก็เป็นที่เรียบร้อย
  • พ.ศ.2444-2445 พระยาวรเดชศักดาวุธ (เจ๊ก  วงศาโรจน์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ออกตรวจราชการและแต่งตั้งให้ชาวกะเหรี่ยงเขตราชบุรี เพชรบุรี เป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่ราชบุรี หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งวงลา) แห่งบ้านห้วยแห้ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลสวนผึ้งเป็นคนแรก และจะต้องไปกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เมืองราชบุรีทุกๆ 3 ปี
  • พ.ศ.2450 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการสำรวจประชากรกะเหรี่ยงทั้งหมดในมณฑลราชบุรี (ดูอาณาเขตมณฑลราชบุรี)  พบว่ามีชาวกะเหรี่ยงถึง 6,437 คน
  • พ.ศ.2474 เกิดโรงเรียนประชาบาลหลังแรกที่วัดบ้านบ่อ ต.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ชาวกะเหรี่ยงจึงเริ่มเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมไทยมากขึ้น เพราะมีชาวกะเหรี่ยงเป็นครูใหญ่ ชื่อ นายระเอิน บุญเลิศ
  • ประมาณก่อน พ.ศ.2475 พันเอกพระยาสุรพันธเสนี (อิ้น  บุนนาค) สุมหเทศาภิบาลราชบุรี ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ที่แถบป่าที่ชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง อาศัยอยู่นี้  และท่านได้รับเอาบุตรธิดาของ กำนันตาไม้ บุญเลิศ (กำนันตำบลสวนผึ้งคนที่ 3) ไปอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและสัมผัสกับสังคมเมืองราชบุรี หลังจากนั้นจะส่งกลับมาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นบ้านของตนเองต่อไป เหตุการณ์ในช่วงนี้กะเหรี่ยงราชบุรี และเพชรบุรี เริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อนวม วัดแจ้งเจริญ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี จนกระทั่งเกิดประเพณี "ชุมนุมวันปีใหม่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5"  ชาวกะเหรี่ยงจะไปชุมนุมกันที่วัดแจ้งเจริญเพื่อสรงน้ำหลวงพ่อนวม และก่อให้เกิดพิธีเหยียบหลังกะเหรี่ยงมาจนทุกวันนี้ (ดูรายละเอียด)
  • พ.ศ.2484 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ้นบุกเข้าไทยเดินทางไปถึง อ.สวนผึ้ง บังคับให้กะเหรี่ยงนำทางไปสำรวจเมืองทวาย
  • พ.ศ.2491 กะเหรี่ยงจากเมืองทวาย เมืองมะริด ในพม่า หนีการเข่นฆ่าจากพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนเขตจังหวัดราชบุรี และได้นำช้างมาขายให้เพื่อนำเงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไว้สู้รบกับพม่า ซึ่งกะเหรี่ยงรุ่นนี้นับเป็นกะเหรี่ยงอพยพรุ่นแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
  • พ.ศ.2493 กะเหรี่ยง เค.เอ็น.ยู. เข้ามาลักลอบซื้ออาวุธที่ชายแดนบริเวณเขต อ.สวนผึ้ง
  • พ.ศ.2500 กะเหรี่ยง เค.เอ็น.ยู ถอยร่นมาประชิดชายแดนในเขตจังหวัดราชบุรี และเริ่มมีการติดต่อกับชาวเหมืองแร่แถบสวนผึ้งมากขึ้น
  • 25 เมษายน พ.ศ.2509 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง เป็นครั้งแรก และทรงเปิดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเอื้อบำเพ็ญ

*********************************************** 
อ่านต่อ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 4

ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 2

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 1
*******************************************************

กะเหรี่ยงกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
มีการบันทึกเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ชาติไทย มาหลายยุคหลายสมัย อาทิ
  • พ.ศ.2142 เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี ในครั้งนั้นมีแม่ทัพไทยท่านหนึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงมีชื่อว่า "แสนภูมิโลกเพชร"
  • พ.ศ.2205 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตีเมืองเชียงใหม่ได้ ซึ่งศึกครั้งนี้มีชาวกะเหรี่ยงและชาวละว้า เป็นกองอาทมาต (หน่วยรบพิเศษ)
  • พ.ศ.2318 ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อะแซหวุ่นกี้จัดกองทัพจะมาตีกรุงธนบุรี ศึกครั้งนี้ก็มีชาวกะเหรี่ยงและชาวละว้าแห่งเมืองศรีสวัสดิ์คอยหาข่าวให้ฝ่ายไทย
  • พ.ศ.2328 ในสงครามเก้าทัพ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กะเหรี่ยงจากเมืองสังขละบุรีมีใบบอกไปยังเมืองหลวง ไทยจึงสามารถจัดเตรียมการรับศึกด้านนี้ได้ทันเวลา 
  • ฯลฯ
ชาวกะเหรี่ยงมีส่วนสำคัญในการช่วยปกปักรักษาแผ่นดินสยามหลายต่อหลายครั้ง เป็นทั้งด่านหน้า กองสอดแนม กองอาทมาต และเป็นไพร่พลในการสู้รบกับพม่า ผู้นำกะเหรี่ยงหลายท่านที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายด่านและเจ้าเมืองในหัวเมืองตะวันตก เช่น พระพิชัยชนะสงคราม เป็นเจ้าเมืองศรีสวัสดิ์  หลวงประเทศเขื่อนขันธ์ เป็นนายกองด่านบ้านบ่องตี้ หลวงพิทักษ์บรรพต ขุนพิทักษ์ไพรวัลย์ เป็นนายกองด่านบ้านยางโทน และพระแม่กลองเป็นนายด่านดูแลชายแดนด้านอุ้มผางรอยต่อเมืองกำแพงเพชรและอุทัยธานี เป็นต้น

ส่วนกะเหรี่ยงโพล่งและปกาเกอะญอ ที่เมืองราชบุรี เป็นกะเหรี่ยงที่ปักหลักแหล่งบนพื้นราบมานานกว่า 200 ปี มีหน้าที่เป็นชาวด่านคอยดูแลชายแดนไทยด้านตะวันตก ผู้นำในอดีตที่เป็นนายกองด่านตำบลสวนผึ้ง คือ หลวงพิทักษ์คิรีมาตย์   นายกองด่านตำบลยางหัก คือหลวงวิเศษ คิรีรักษ์ และหากเลยไปยังบ้านลิ้นช้าง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ก็คือ หลวงศรีรักษา

โพล่งราชบุรีมาจากเมืองทวาย
กะเหรี่ยงโพล่งราชบุรี อพยพมาจากเมืองทวาย ดังมีบทกลอนที่กล่าวถึงการเดินทางของโพล่งว่า

"เหย่อ โอ้ คัง ถุเว   เหย่อ เง่ ถ่อง คู้หล่องผ้าดู้  เหย่อ เง่  โอ้ ซร้าย คัง"
(แปลเป็นภาษาไทยว่า "เราอยู่เมืองทวาย เรามาถึงภูเขาใหญ่  เรามาอยู่สยามประเทศ" )

โพล่งเดินทางอพยพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตั้งหลักแหล่งบริเวณแนวแม่น้ำแควน้อย (ทิ้ยโลวโหว่คลุ) ลงมาทางตอนใต้จนถึงปากแม่น้ำภาชี บริเวณบ้านท่าเสด็จ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี  แล้วย้อนขึ้นไปยังต้นแม่น้ำภาชี เข้าเขต อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

ภาพวาด กุ เคมบิง สาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง
โดย อ.สุรินทร์ เหลือลมัย
เมื่อ พ.ศ.2513
โพล่งและปกาเกอะญอ แถวราชบุรี ครั้งแรกกระจายกันอยู่ตามที่ราบเชิงเขา ริมแม่น้ำภาชีและลำห้วยที่เป็นสาขา  จึงเรียกกะเหรี่ยงเหล่านี้ตามบริเวณที่อยู่ว่า "โพล่งท่าตะเก" (ท่าตะเก อาจมาจากคำว่าท่าสะแก ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงดั้งเดิมอยู่ทางทิศเหนือของด่านเจ้าเขว้าประมาณ 2 กม.ในเขต ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในปัจจุบัน)  ต่อมาโพล่งบางครอบครัวขออพยพแยกลงมาทางใต้อีก ที่ บ้านรางบัว บ้านหนองอีหมัน และบ้านหนองกะเหรี่ยง (บ้านหนองกะเหรี่ยงนี้ ภายหลังชาวไท-ยวน ย้านมาอยู่แทนและเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านหนองนกกะเรียน)  ณ บริเวณนี้เกิดโรคระบาดและขาดแคลนน้ำทำนา กะเหรี่ยงจึงพากันอพยพเดินทางต่อลงไปทางใต้อีก ผ่านบ้านยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เรื่อยไปจนถึง บ้านพุพลูห้วยแห้ง อ.หนองหญ้าปล้อง บ้านวังวน บ้านสองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แถวต้นแม่น้ำเพชรบุรี เรื่อยไปถึงต้นแม่น้ำปราณบุรี แถบ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่  ต.แพรกตะคร้อ อ.หัวหิน และ ต.ศาลาชัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคิรีขันธ์

ท่าตะเกกลายเป็นหมู่บ้านร้าง
หมู่บ้านโพล่งท่าตะเก เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการลงโทษของสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ เกิดจากการที่คนในหมู่บ้านละเมิด กฏระเบียบ ประเพณีข้อห้ามของหมู่บ้าน โพล่งท่าตะเกจึงต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ โดยย้ายทวนกระแสน้ำขึ้นไป เพราะเชื่อว่าหากย้ายตามกระแสน้ำแล้ว ความเจ็บป่วยอาจจะไหลไปตามกระแสน้ำอีก จากนั้นมาหมู่บ้านท่าตะเกจึงกลายเป็นหมู่บ้านร้าง

โพล่งท่าตะเกหนีโรคระบาดไปอยู่ที่บ้านส้องเมิ๊ก (แปลภาษาไทยว่า บ้านที่มีความสุข ปัจจุบันบ้านส้องเมิ๊กนี้ก็คือบ้านสวนผึ้ง) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำภาชี และอยู่ต่อมาที่นี่ก็เกิดโรคระบาดและเหตุร้ายอีกครั้งหนึ่ง โพล่งจึงต้องเดินทางอพยพย้ายต่อไปยัง บ้านน๊องผุ-หนองชะอม(ปัจจุบันคือ บ้านบ่อ) และบ้านน๊องผุ่ง (ปัจจุบันคือบ้านทุ่งแฝก)

ดังนั้น บ้านสวนผึ้ง บ้านบ่อ บ้านทุ่งแฝก  จึงเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงโพล่งรุ่นแรกๆ ของ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นมณฑลราชบุรีในปี พ.ศ.2437

สรุปโดยภาพรวมแล้ว หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ต้องถูกทิ้งร้างในสมัยนั้น ได้แก่
  • เขตตำบลสวนผึ้ง ได้แก่ บ้านท่าตะเก บ้านทุ่งเรือ บ้านหนองไอ่ บ้านทุ่งหงส์ บ้านต้นมะค่า และบ้านยางห้าหลุม
  • เขตตำบลบ้านคา ได้แก่ บ้านลำพะ  บ้านท่าบุญจัน
  • เขตตำบลด่านทับตะโก ได้แก่ บ้านทุ่งแฝก บ้านเก่ากะเหรี่ยง
  • เขตตำบลรางบัว ได้แก่ บ้านรางบัว บ้านหนองอีหมัน และบ้านหนองกะเหรี่ยง (หนองนกกะเรียน)

โพล่งโด่งพริบพรี
กะเหรี่ยงราชบุรีและกะเหรี่ยงเพชรบุรี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากกว่ากะเหรี่ยงที่อยู่ทางแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ ใน จ.กาญจนบุรี โดยมักเป็นเครือญาติสนิทกันด้วยการแต่งงาน ดังนั้นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ภาษาพูดและสำเนียงจึงคล้ายกัน มีพิธีกรรมผูกแขนเรียกขวัญ เดือนเก้าเหมือนกัน (ดูรายละเอียด) มีการชุมนุมปีใหม่กะเหรี่ยงที่วัดแจ้งเจริญ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ทุกปี (ดูรายละเอียด)

กะเหรี่ยงเพชรบุรีเรียกกะเหรี่ยงราชบุรีว่า "โพล่งท่าตะเก"
กะเหรี่ยงราชบุรีเรียกกะเหรี่ยงเพชรบุรีว่า "โพล่งโด่งพริบพรี"

*****************************************************
อ่านต่อ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 3

ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 1

เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยงในราชบุรี นี้ ผู้จัดทำได้สังเคราะห์มาจากหนังสือหลายเล่มที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในจังหวัดราชบุรี ได้เขียนและจัดพิมพ์ไว้  ซึ่งตั้งใจจะบันทึกไว้เพื่อให้สามารถใช้สืบค้นได้ในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง เรื่องราวของไทยกะเหรี่ยงในราชบุรีนี้ มีความยาวมาก ผู้จัดทำจึงได้จัดแบ่งออกเป็นหลายตอนเพื่อสะดวกในการอ่านต่อไป 

ประวัติความเป็นมา
ประเทศไทยถือว่ากะเหรี่ยงเป็นชาวไทยภูเขากลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในราชอาณาจักร มีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษา และการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นยังเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องป่าและพืชพรรณต่างๆ เป็นอย่างดี นักวิชาการในอดีตได้แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่
  1. กะเหรี่ยงสกอว์ หรือปกาเกอะญอ
  2. กะเหรี่ยงซูว หรือ โผล่ว, โพล่ง
  3. กะเหรี่ยงคะยาห์ หรือ ยางแดง
  4. กะเหรี่ยงตองซู
นักวิชาการสมัยใหม่กลับมองเห็นว่า คะยาห์ และตองซู (หรืออาจเรียกว่าต้องสู้) ไม่ไช่กะเหรี่ยงเพราะเป็นเผ่าเอกเทศที่มีภูมิหลัง ภาษา พฤติกรรมทางสังคม ลักษณะทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ และการแต่งกายเป็นลักษณะเด่นแตกต่างจากกะเหรี่ยง

ต้องสู คือเงี้ยว (ไทยใหญ่ที่อยู่ในภาคเหนือ) หรือ กุลา (คุลา) ที่อยู่ในภาคอีสาน พวกนี้เป็นักเดินทางเร่ร่อนค้าขายทางไกลโดยใช้วัวต่างหรือกองเกวียน 

คะยาห์ หรือยางแดง อยู่แถบลุ่มแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย ในรัฐกะยาห์หรือรัฐคะเร็นนี่ คู่กับรัฐกอทูเลของกะเหรี่ยงในประเทศพม่า คะยาห์ (ยางแดง) จะเรียกตัวเองว่า แบร, บะไฆ, บะเว และกะยาห์  มีบางส่วนอพยพเข้ามาอยู่ชายแดนประเทศไทยที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่

Kayan/Karen
ภาษาพม่าโบราณเรียกชาวกะเหรี่ยงว่า "เกอะยาง/กะยาง (Kayan)" ส่วนชาวล้านนาในอดีตเรียกคนกะเหรี่ยงคล้ายพม่า แต่ตัดพยางค์หน้าออกเหลือแต่พยางค์หลัง โดยเรียกว่า "ยาง" ต่อมาฝรั่งชาติตะวันตกมักเขียนว่า "Karen (คะเร็น)"  ซึ่งมีความหมายว่า กะเหรี่ยง ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงกะเหรี่ยงในภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า "Karen"  สืบมา

ยางขาว/ยางแดง
ชาวล้านนาเป็นผู้ที่รู้จักและผูกพันกับกะเหรี่ยงมายาวนาน ชาวล้านนามักเรียกกะเหรี่ยงแยกออกเป็นกลุ่มตามแต่ที่นิยมใส่เสื้อผ้า เช่น กะเหรี่ยงที่นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาว เรียกว่า "ยางขาว" ส่วนกะเหรี่ยงที่นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีแดงจะเรียกว่า "ยางแดง" การเรียกของชาวล้านนานี้ก็เรียกเพื่อให้เห็นความแตกต่างเท่านั้น  ต่อมาภายหลังมีการเรียกว่า "กะเหรี่ยง" มากขึ้น คำว่าว่ายาง ซึ่งเป็นภาษาพูดก็ค่อยเลือนหายไป เหลือเพียงเป็นคำเรียกขานปรากฏอยู่ในเอกสารเก่าๆ หรือเป็นภาษาพูดของชาวล้านนาผู้สูงอายุเท่านั้น

ที่มาของภาพ
http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_16.html
ชาวกะเหรี่ยงในราชบุรี
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในราชบุรี มี 2 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยงสกอว์ (ปกาเกอะญอ) และกะเหรี่ยงซูว (โผล่ว,โพล่ง, โพล่วง) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีสำนึกทางสังคม ภาษา ลักษณะทางเชื้อชาติ ความเชื่อ พฤติกรรมทางสังคมและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกัน และได้รับการยอมรับจากกลุ่มกะเหรี่ยงอิสระรัฐกอทูเล ประเทศพม่า ซึ่งวิชาภาษาปกาเกอะญอและภาษาโพล่ง ที่พูดกันนี้ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของรัฐกอทูเลด้วย

ปกาเกอะญอ มีความหมายในภาษาไทยว่า " เราเป็นคน เป็นมนุษยชาติที่เรียบง่าย และเราเป็นคนสมถะ" (ปกา แปลว่า เรา พวกเรา ,เกอะยอ แปลว่า คน มนุษยชาติ เรียบง่าย)

โพล่ง มีความหมายในภาษาไทยว่า "เราเป็นคนหรือเราเป็นมนุษยชาติ" (โพล่ง แปลว่า คน มนุษยชาติ)

ในบางเอกสารระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงในราชบุรีเรียกตนเองว่า หละโพล่ง/เหลอะโผล่ง (ออกเสียงพยางค์แรกไม่เต็มสระและเบากว่าพยางค์หลัง) มีความหมายในภาษาไทยว่า "คน หรือ มนุษย์" และบางเอกสารก็บอกว่าชาวกะเหรี่ยงเรียกตนเองว่า กะโพล่ง, โพล่ง, โปว์ หรือ โป ก็มี การที่มีการเขียนชื่อและเรียกชื่อกะเหรี่ยงที่แตกต่างกันหลายแบบนี้ ขึ้นอยู่กับเสียงภาษากะเหรี่ยงที่ได้ยิน และนำมาเขียนในภาษาไทยซึ่งบางครั้ง ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนแทนเสียงได้ทุกภาษา และเคยมีเรียกชาวกะเหรี่ยง เป็น กะหร่าง ก็ยังมี

เกรี่ยง
ชาวมอญเรียก กะเหรี่ยง ว่า เกรี่ยง เมื่อครั้งอยู่ในประเทศพม่า ชาวมอญมีความสัมพันธ์กับชาวกะเหรี่ยงอย่างแนบแน่น แม้ชาวมอญจะอพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแถบลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว ประเพณีการรำผีมอญ จึงมีการรำผีกะเหรี่ยงด้วย โดยนับถือควบคู่กันไป ชาวไทยภาคกลางในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกกะเหรี่ยงตามชาวมอญว่า เกรี่ยงหรือกะเหรี่ยง 


*******************************************
อ่านต่อ : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 2

ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
         
อ่านต่อ >>