วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยลาวเวียง ตอนที่ 1 ลาก่อนเวียงจันทน์

ลาก่อนเวียงจันทน์
ประชุมพงศาวดารเล่ม 10 ขององค์การค้าคุรุสภา บันทึกไว้ว่า
"เถิงจุลศักราชได้ 1141 ตัว ปีกัดไก๊นั้น เมืองอโยทธยา ก็ยกเอากองทัพขึ้นมารบเอาเมืองจันทบุรีหั้นแล เถิงเดือน 12 ลง 4 ค่ำ เวียงจันทบุรีก็แตกหั้นแล ดังมหากษัตริย์เจ้าเวียงจันทน์นั้น ก็หนีไปเมืองแกวหั้นแล ชาวใต้ก็ได้ลูกเจ้าเมืองจันทบุรีผู้หนึ่งชื่อ เจ้านันทเสน กับลูกสาวมหากษัตริย์เวียงจันทน์ผู้หนึ่งชื่อ  นางเขียวค้อม และไพร่ไทยทั้งหลาย เอาลงไปเมืองใต้พุ้นนั้นแล ยามเจ้าอริยวงศ์ตนเป็นพ่อเจ้าหลวงวิธูรและไพร่ไทยชาวน่านซึ่งอันติดตามท่านไปอยู่เมืองจันทบุรีนั้น ชาวใต้ก็กวาดลงไปเมืองใต้เสี้ยงหั้นแล  อยู่มาเถิงจุลศักราช 1143 ตัวปีลวงเป้า เดือน 3 ลงค่ำหนึ่ง วันเสาร์ เจ้าพระยาอริยวงศ์ตนเป็นพ่อเจ้าหลวงวิธูรนั้นก็เถิงแก่กรรมตายไปในเมืองใต้ที่นั้นหั้นแล"

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา
http://www.thaimtb.com/cgi-bin/
viewkatoo.pl?id=125975&st=169
พงศาวดารสำนวนภาษาเหนือนี้ สรุปได้ความว่า เมื่อ พ.ศ.2322 กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทร์ (ซึ่งสำนวนภาษาอาจเรียกว่าเมืองจันทบุรีหรือเวียงจันทบุรี) จนเมืองเวียงจันทน์แตก พระมหากษัตริย์ของเวียงจันทน์หนีไปเมืองเวียดนาม(แกว) แล้วทางกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้นำตัวพระเจ้านันทเสน ราชโอรส และนางเขียวค้อม ราชธิดา ตลอดจนชาวเมืองเวียงจันทน์ กวาดต้อนลงใต้กลับมายังกรุงธนบุรี

ในเรื่องนี้มีบางบันทึกก็กล่าวไว้สอดคล้องกันและมีความชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ
เมื่อปีจอ พ.ศ.2321 ต่อปีกุน พ.ศ.2322 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ยกทัพไปตีหัวเมืองล้านช้าง ได้แก่ เวียงจันทน์  หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ และหัวเมืองริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออก สาเหตุเพราะในสมัยนั้นเจ้านายลาวเกิดความไม่ปรองดองกัน พระวอพระตา เจ้านายของลาวได้หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยอพยพผู้คนมาอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อเจ้าสิริบุญสาร ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ทราบข่าว ก็โปรดให้ยกกองทัพเข้ามาในเขตไทยจับพระวอพระตาฆ่าทิ้งเสีย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯ ให้ยกกองทัพไปปราบและเลยขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์เสียในคราเดียว

ลาก่อนเวียงจันทน์
เมื่อยึดเมืองเวียงจันทน์ได้แล้ว ได้โปรดให้กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ พร้อมด้วยอาวุธและทรัพย์สินลงมาด้วย ซึ่งในชาวลาวนี้มีโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารรวมอยู่ด้วย 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ และเมื่อเดินทางมาถึง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง 3 พระองค์พำนักอยู่ที่บางยี่ขัน (บริเวณวัดดาวดึงส์ ในปัจจุบัน)   ส่วนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ที่เหลือ ให้นำไปรวมไว้ที่เมืองสระบุรี และแบ่งบางส่วนไปที่เมืองจันทบุรี และเมืองราชบุรี

ใช้ลาวแลกลาว..ถูกกวาดต้อนรอบสอง
ต่อมา พ.ศ.2335 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระเจ้านันทเสน เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้ยกทัพไปตีเมืองพวนและเมืองแดง กวาดต้อนครอบครัวลาวพวนและลาวทรงดำ มาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อแลกเปลี่ยนกับชาวลาวเวียงจันทน์ที่อยู่ในประเทศไทย ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไม่ยอมประทานแลกเปลี่ยน และทรงสั่งปลดพระเจ้านันทเสนออกจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์ พร้อมกับทรงยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ให้เข้ามาอยู่ในหัวเมืองชั้นในมากยิ่งขึ้น 

ที่มาของภาพ
http://www.pailinbooknet
.com/review/product/
list/id/2768/category/57/
กบฏเมืองเวียงจันทน์..ถูกกวาดต้อนรอบสาม
พ.ศ.2369-2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้ก่อกบฎไม่เป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกทัพของเมืองเวียงจันทน์และเมืองจำปาศักดิ์ เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา พร้อมยกกองทัพลงมากวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์ที่เมืองสระบุรีกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงโปรดให้ยกกองทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์กลับมาอยู่ในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

และชาวลาวเวียงจันทร์ ที่ถูกกวาดต้อนในรอบนี้ บางส่วนได้ถูกนำมาพำนักที่เมืองราชบุรีเป็นระลอกที่สอง


*****************************************
อ่านต่อ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยลาวเวียง ตอนที่ 2  อิสระภาพ

ที่มาข้อมูล
  • ประพันธ์  อุบลธรรม. (2547). ไทลาวเวียง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น