วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 2 ชีวิตที่เมืองราชบุรี

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 1 นิราศร้างห่างมาตุภูมิ
*************************************************************************

ชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนในแต่ละส่วน เดินทางอพยพครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนที่มากับกองทัพของวังหลวงนั้น บางส่วนขอตั้งหลักแหล่งที่ อ.เสาไห้  จ.สระบุรี และส่วนที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปตั้งหลักแหล่งถิ่นฐาน ณ เมืองราชบุรี

ที่มาของภาพ
http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=6667
บ้านไร่นที
ชาวไท-โยนก (ไท-ยวน) ก่อนที่จะมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองราชบุรี ได้พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ แถวบางขุนพรหม อยู่ระยะหนึ่งจึงค่อยเดินทางมายังเมืองราชบุรี โดยมาตั้งบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศตะวันออกประมาณสองกิโลเมตร เรียกว่า "หมู่บ้านไร่นที" (ภาษายวนพื้นบ้าน เรียกขานว่าเมืองละพี) ปัจจุบันบริเวณนี้ ก็คือ ตั้งแต่วัดศรีชมพู ตลอดไปจนถึงบริเวณวัดเทพอาวาส อ.เมือง จ.ราชบุรี

ในบันทึกประวัติย่อของหลวงศรีสวัสดิ์ อดีตนายอำเภอเมืองราชบุรี กล่าวถึงเรื่องราวของชาว ไท-ยวน นี้ว่า "...ปู่ทวดของข้าพเจ้า คือ เจ้ากาวิละ สมัยนั้นเกิดศึกสงคราม พวกศัตรูได้ขับไล่ต้อนมาหรือพวกไทยใหญ่(ลาว) แตกแยกสามัคคีกัน ไม่แน่นัก พวกเหล่านี้ก็ได้อพยพมาสู่เมืองหลวง คือ จังหวัดพระนครเดี๋ยวนี้ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดพระกรุณาให้แยกทัพพลเมืองเหล่านี้ ไปอยู่ทางภาคเหนือบ้าง เช่น จังหวัดสระบุรี ลพบุรี พิษณุโลก ส่วนจังหวัดราชบุรีเวลานั้น ผู้คนหัวเมืองมีน้อย จึงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพลเมืองพวกเหล่านี้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองใต้จังหวัดเรียกว่า บ้านไร่นาที (ภาษาลาวเรียกว่าบ้านราชนที) แล้วโปรดเกล้าให้ลาวเหล่านี้เลยไปอยู่ทางภาคใต้ เช่น จังหวัดนครศณีธรรมราชก็มีมาก

เฉพาะจังหวัดราชบุรีได้ทรงแต่งตั้งให้ พระณรงค์ภักดี พระวิชิตสงคราม พระบริรักษ์ภักดี ส่วนบิดาของข้าพเจ้านามเดิมว่า ทองอยู่ ได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นประทวนหรือหมายตั้งสมัยนั้นไม่ทราบเป็นหลวงอินทรพินารถ มีหน้าที่คุมลูกหมู่ทหารสังกัดขึ้นกระทรวงกลาโหม สมัยนั้นต้องเดินส่งส่วยทุกปี...."

ครูบาหลวงเตี้ย และครูบาหลวงญะ แห่งเมืองเทิง
ในบันทึกส่วนตัวของพระครูวินัยธรรม (อินท์) แห่งวัดสัตนารถปริวัตร อ.เมือง จ.ราชบุรี บันทึกไว้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2459 กล่าวถึงเรื่องการสร้างวัดสัตตนารถปริวัตร ของชาวไท-ยวนขณะที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองว่า

"...เมื่อครั้งรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองเทิง (ปัจจุบันคือ อ.เทิง อยู่ใน จ.เชียงราย) ได้รับความเดือดร้อนภัยสงครามจากพม่า จึงพาครอบครัวชาวเมืองเทิงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์ทรงโปรดให้พากันมาอยู่ที่เมืองราชบุรี  ต่อมามีภิกษุสองรูป คือ ครูบาหลวงเตี้ยและครูบาหลวงญะ ซึ่งเป็นภิกษุเชื้อสายไท-ยวน อยู่เมืองเทิง ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่เมืองราชบุรี  บรรดาญาติพี่น้องได้ร่วมใจกันสร้างวัดโพธิ์ (ปัจจุบันคือวัดสัตตนารถปริวัตร) ให้ครูบาหลวงเตี้ยจำพรรษา และสร้างวัดศรีชมพูให้ครูบาหลวงญะจำพรรษา...."

วัตสัตตนารถปริวัตร
ที่มาของภาพ http://www.panoramio.com/photo/50488760
ขยายครัวเรือน
ชาวไท-ยวนจากเมืองเชียงแสน ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านไร่นที นั้น ต่อมามีการขยายครัวเรือนออกไปตั้งหลักแหล่งอยู่อีกหลายพื้นที่ ได้แก่
  • เขต อ.เมืองราชบุรี ได้แก่ ต.คูบัว ต.ดอนตะโก ต.ดอนแร่ ต.อ่างทอง ต.ห้วยไผ่ ต.เจดีย์หัก ต.หินกอง และชาวไท-ยวน เหล่านี้ ต่างก็ได้สร้างวัดของตนเองไว้เพื่อทำบุญ  เช่น วัดคูบัว วัดดอนตะโก วัดใหญ่อ่างทอง วัดนาหนอง วัดเขาลอยมูลโค วัดใหม่นครบาล เป็นต้น
  • เขต อ.โพธาราม ได้แก่ ต.หนองโพ ต.บางกะโด มีวัดที่สร้างขึ้นคือ วัดหนองโพ วัดบางกะโด
  • เขต อ.บ้านโป่ง ได้แก่ ต.หนองปลาหมอ มีวัดที่สร้างขึ้นคือ วัดหนองปลาหมอ วัดบ่อเจ๊ก
  • เขต อ.ปากท่อ ได้แก่ ต.อ่างหิน ต.นาคอก ต.ทุ่งหลวง(บางส่วน) ต.บ่อกระดาน บ้านหนองบัว
  • เขต อ.บางแพ ได้แก่ ต.วัดแก้ว ต.บ้านหลวง
  • เขต อ.จอมบึง ได้แก่ ต.รางบัว ต.หนองนกกระเรียน บ้านชัฎใหญ่ บ้านทุ่งกว้าง บ้านรางอาวบ้านชัฎหนองหมี บ้านนาไฮ่เดียว บ้านหนองกลางเนิน
  • เขต อ.สวนผึ้ง ได้แก่ ต.ท่าเคย ต.นาขุนแสน ต.ทุ่งแหลม ต.หนองขาม บ้านป่าหวาย  

ต้นสกุลบริรักษ์, พระวิชิต และ พระณรงค์
คนไท-ยวนที่อยู่ในเมืองราชบุรีระยะแรกๆ นั้น จะได้รับการยกย่องจากทางราชการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ มีหน้าที่เก็บส่วยส่งหลวง ลูกหลานของท่านเหล่านั้นได้สืบเชื้อสายและนำบรรดาศักดิ์มาตั้งเป็นนามสกุล มาจนถึงทุกวันนี้ อาทิ
  • พระบริรักษ์ภักดี เป็นต้นสกุลของ "บริรักษ์" อยู่ที่ ต.ห้วยไผ่
  • พระวิชิตสงคราม เป็นต้นสกุลของ "พระวิชิต" อยู่ที่ ต.ดอนตะโก
  • พระณรงค์ภักดี เป็นต้นสกุลของ "พระณรงค์" อยู่ที่ ต.บางกะโด ต.หนองโพ
  • ฯลฯ
**********************************
อ่านต่อ : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 3 ผู้เฒ่าไท-ยวนบ้านปู่ฟ้า

ที่มาข้อมูล
  • อุดม สมพร . (2547). ไท-ยวน. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • อุดม สมพร. (2538). งานวิจัย : ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. กระทรวงศึกษาธิการ : กรมอาชีวศึกษา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น