*********************************************************
นายด่านเจ้าขว้าว
ชาวกะเหรี่ยงในอดีตมักได้รับมอบหมายให้เป็นนายด่านของสยามประเทศตามแนวขอบชายแดน คอยแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวของกองทัพประเทศพม่าให้เมืองหลวงทราบ โดยเฉพาะที่ราชบุรี มีด่านที่สำคัญอยู่ด่านหนึ่ง ชื่อว่า "ด่านเจ้าขว้าว" (บางเอกสารเขียน ด่านเจ้าเขว้า) ตั้งอยู่บริเวณเหนือ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนเกี่ยวข้องกับการรบกับพม่าหลายครั้งตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องด่านเจ้าขว้าว นี้ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ น่าจะทราบเรื่องราวและประวัติศาสตร์ได้ดี ท่านได้เขียนบทความเพิ่มเติมไว้ใน "ภาพเก่าเล่าอดีต : ด่่านประตูสามบาน" ท่านสันนิษฐานว่าด่านเจ้าขว้าวอาจจะเป็นด่านประตูสามบาน นี่เอง ซึ่งท่านก็ยังไม่แน่ใจนัก ลองอ่านเพิ่มเติมดูได้ครับ (ดูรายละเอียด)
ชาวกะเหรี่ยงที่ดำรงตำแหน่งนายด่านเจ้าขว้าว
ชาวกะเหรี่ยงที่ดำรงตำแหน่งนายด่านเจ้าขว้าว นี้ เป็นการเรียบเรียงมาจากความทรงจำของกะเหรี่ยงผู้เฒ่า ซึ่งสามารถจดจำได้ 3 ท่านคือ
- หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งเลี่ยงเฮ่) ต้นตระกูล "คุ้งลึงและบุญเลิศ" มีบุตรชาย ชื่อ พุ่งมั่งตุงหรือนายถึก ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านบ่อ ประมาณปี พ.ศ.2444
- หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งทองดิ่ง) เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพุ่งเลี่ยงเฮ่
- หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งวงลา) พุ่งวงลานี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลสวนผึ้งคนแรก (ประมาณ พ.ศ.2444 เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5)
ด่านประตูสามบาน ดูรายละเอียดเกี่ยวกับภาพ |
บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาวกะเหรี่ยงหลังจากมีการปฏิรุปการปกครองในช่วงรัชกาลที่ 5 พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้
- 20 ธันวาคม พ.ศ.2438 หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ ผู้นำกะเหรี่ยงสวนผึ้งได้พานายพรานชาวกะเหรี่ยงนำของป่าไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในวโรกาสเสด็จประพาสถ้ำมุจลินท์ (ถ้ำจอมพล ในปัจจุบัน)
- พ.ศ.2444 เป็นต้นมา ชาวกะเหรี่ยงเริ่มเข้าสู่ระบบวิถีสังคมไทย รัฐได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นแบบมณฑล ผู้นำกะเหรี่ยงแปรสภาพจากนายกองด่านมาทำหน้าที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำแหน่งนายกองด่านหมดภาระหน้าที่ เพราะรัฐไทยและรัฐพม่าไม่มีข้อขัดแย้งกัน การปักปันเขตแนวชายแดนก็เป็นที่เรียบร้อย
- พ.ศ.2444-2445 พระยาวรเดชศักดาวุธ (เจ๊ก วงศาโรจน์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ออกตรวจราชการและแต่งตั้งให้ชาวกะเหรี่ยงเขตราชบุรี เพชรบุรี เป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่ราชบุรี หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ (พุ่งวงลา) แห่งบ้านห้วยแห้ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลสวนผึ้งเป็นคนแรก และจะต้องไปกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เมืองราชบุรีทุกๆ 3 ปี
- พ.ศ.2450 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการสำรวจประชากรกะเหรี่ยงทั้งหมดในมณฑลราชบุรี (ดูอาณาเขตมณฑลราชบุรี) พบว่ามีชาวกะเหรี่ยงถึง 6,437 คน
- พ.ศ.2474 เกิดโรงเรียนประชาบาลหลังแรกที่วัดบ้านบ่อ ต.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ชาวกะเหรี่ยงจึงเริ่มเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมไทยมากขึ้น เพราะมีชาวกะเหรี่ยงเป็นครูใหญ่ ชื่อ นายระเอิน บุญเลิศ
- ประมาณก่อน พ.ศ.2475 พันเอกพระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) สุมหเทศาภิบาลราชบุรี ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ที่แถบป่าที่ชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง อาศัยอยู่นี้ และท่านได้รับเอาบุตรธิดาของ กำนันตาไม้ บุญเลิศ (กำนันตำบลสวนผึ้งคนที่ 3) ไปอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและสัมผัสกับสังคมเมืองราชบุรี หลังจากนั้นจะส่งกลับมาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นบ้านของตนเองต่อไป เหตุการณ์ในช่วงนี้กะเหรี่ยงราชบุรี และเพชรบุรี เริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อนวม วัดแจ้งเจริญ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี จนกระทั่งเกิดประเพณี "ชุมนุมวันปีใหม่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5" ชาวกะเหรี่ยงจะไปชุมนุมกันที่วัดแจ้งเจริญเพื่อสรงน้ำหลวงพ่อนวม และก่อให้เกิดพิธีเหยียบหลังกะเหรี่ยงมาจนทุกวันนี้ (ดูรายละเอียด)
- พ.ศ.2484 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ้นบุกเข้าไทยเดินทางไปถึง อ.สวนผึ้ง บังคับให้กะเหรี่ยงนำทางไปสำรวจเมืองทวาย
- พ.ศ.2491 กะเหรี่ยงจากเมืองทวาย เมืองมะริด ในพม่า หนีการเข่นฆ่าจากพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนเขตจังหวัดราชบุรี และได้นำช้างมาขายให้เพื่อนำเงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไว้สู้รบกับพม่า ซึ่งกะเหรี่ยงรุ่นนี้นับเป็นกะเหรี่ยงอพยพรุ่นแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
- พ.ศ.2493 กะเหรี่ยง เค.เอ็น.ยู. เข้ามาลักลอบซื้ออาวุธที่ชายแดนบริเวณเขต อ.สวนผึ้ง
- พ.ศ.2500 กะเหรี่ยง เค.เอ็น.ยู ถอยร่นมาประชิดชายแดนในเขตจังหวัดราชบุรี และเริ่มมีการติดต่อกับชาวเหมืองแร่แถบสวนผึ้งมากขึ้น
- 25 เมษายน พ.ศ.2509 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง เป็นครั้งแรก และทรงเปิดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเอื้อบำเพ็ญ
***********************************************
อ่านต่อ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 4
ที่มาข้อมูล
- วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
- สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
- วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
- คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
- มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น