วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 1 นิราศร้างห่างมาตุภูมิ

เรื่องราวของชาวไท-ยวน ในราชบุรีนี้ ผู้จัดทำได้ค้นคว้ามาจากงานวิจัยเรื่อง "ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ " ของ อาจารย์อุดม สมพร นักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ปีพุทธศักราช 2536 ซึ่งท่านทำการวิจัยแล้วเสร็จเมื่อ 5 ธันวาคม  พ.ศ.2538  นอกจากนั้นยังค้นหาเพิ่มเติมจากหนังสือ และเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออีกหลายแห่ง ดังข้อมูลอ้างอิงปรากฏไว้ในท้ายบทความนี้

ที่มาของภาพ
http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=4127.0

ยวน แห่งเมืองเชียงแสน
คำว่า “ยวน" หมายถึง ชื่อเผ่าของคนไทในล้านนา เรียก "ไทยวน"  ซึ่งแผลงเป็น "โยน" และ "โยนก" ได้ ซึ่งนามโยนกนี้เป็นนามแห่งนครในตำนาน ชื่อ "เมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ"

ปี พ.ศ.2345 พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าโปรดให้ ฮินแซะหวุ่น เป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีพระยากาวิละ เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงทราบข่าวศึก  จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพยอกกองทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ โดยมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช คุมกองทัพของวังหลวง และมีกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระองค์เจ้าลำดวน  และพระองค์เจ้าอินทปัต คุมกองทัพของวังหน้า

กองทัพของวังหน้าเข้าตีค่ายพม่าที่ยึดเมืองเชียงใหม่อยู่ได้สำเร็จ กองทัพพม่าแตกพ่ายหนีไปซ่องสุมกำลังอยู่ในเมืองเชียงแสน  ส่วนกองทัพของวังหลวง ซึ่งมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช คุมอยู่ ทำการรบไม่เข้มแข็ง กระพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงลงโทษให้นำทัพขึ้นไปปราบกองทัพพม่าที่ เมืองเชียงแสน และให้ขับไล่ออกจากเขตล้านนาไทยให้จงได้ เหตุที่ต้องขับไล่ให้ได้ เพราะสมัยนั้น พม่าใช้เชียงแสนเป็นฐานหลักในการควบคุมเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ตลอดถึงรัฐของชาวไทยใหญ่ในบริเวณนั้น 

ห้ากองทัพล้อมเมืองเชียงแสน
พ.ศ.2546 กองทัพของวังหลวง ของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช เข้าล้อมเมืองเชียงแสน และขณะเดียวกันก็มีกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ และเมืองเวียงจันทร์ ยกกองทัพขึ้นไปสมทบ เพื่อจะตีเมืองเชียงแสนคืนจากการยึดครองของกองทัพพม่าให้ได้  รวมจำนวนกองทัพที่ล้อมเมืองเชียงแสนนี้มีถึงห้ากองทัพ

เดือนห้า ปีชวด พ.ศ.2437
ชาวเมืองเชียงแสนขาดแคลนเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยาก ต้องฆ่าช้างม้า วัว ควาย กินเป็นอาหารจนเกือบจะหมดสิ้น ชาวเชียงแสนก่อการกบฎกองทัพพม่า พากันเปิดประตูเมือง ให้กองทัพแห่งสยามประเทศทั้งห้าทัพ เข้ายึดเมืองฆ่าฟันพม่า จนแตกพ่ายหนีออกไปจากเมืองเชียงแสนจนหมดสิ้น นาขวา แม่ทัพพม่าที่ถูกแต่งตั้งให้นั่งปกครองเมืองเชียงแสน ต่างก็พาครอบครัวหนี

กองทัพแห่งสยามประเทศได้รื้อกำแพงเมือง เผาบ้านเผาเรือนจนวอดวาย เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยและซ่องสุมกำลังของพวกพม่าอีกต่อไป หลังจากนั้นได้อพยพชาวเมืองเชียงแสนไปตั้งหลักแหล่งหาที่อยู่อาศัยใหม่ต่อไป

นิราศร้างห่างมาตุภูมิ
กองทัพแห่งสยามประเทศได้รวมรวบชาวเชียงแสนได้ประมาณ 23,000 คนเศษ จัดการแบ่งครัวเรือนเหล่านี้ออกเป็นห้าส่วน เดินทางอพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ยังเมืองของกองทัพทั้งห้า ดังนี้
  • กองทัพเมืองเชียงใหม่ -ตั้งหลักแหล่งใหม่บริเวณ บ้านฮ่อม บ้านเมืองสารท บ้านเจียงแสน
  • กองทัพเมืองน่าน - ตั้งหลักแหล่งใหม่บริเวณ อ.เวียงสา
  • กองทัพเมืองลำปาง - ตั้งหลักแหล่งบริเวณวัดปงสนุก วัดเชียงราย
  • กองทัพเมืองเวียงจันทร์ - ตั้งหลักแหล่งที่เมืองเวียงจันทร์ 
  • กองทัพของวังหลวง  -  ตั้งหลักแหล่งที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี และ เมืองราชบุรี
ชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนในแต่ละส่วน เดินทางอพยพครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนชาวไท-โยนก จากเมืองเชียงแสนที่มากับกองทัพของวังหลวงนั้น บางส่วนขอตั้งหลักแหล่งที่ อ.เสาไห้  จ.สระบุรี และส่วนที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปตั้งหลักแหล่งถิ่นฐาน ณ เมืองราชบุรี

*******************************************
อ่านต่อ : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 2 ชีวิตที่เมืองราชบุรี

ที่มาข้อมูล
  • ศศิศ.(2550)."ยวน" ผู้นิราศร้างห่างมาตุภูมิ.[Online]. Available :http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=4127.0. [2554 สิงหาคม 24 ].
  • อุดม สมพร . (2547). ไท-ยวน. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • อุดม สมพร. (2538). งานวิจัย : ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. กระทรวงศึกษาธิการ : กรมอาชีวศึกษา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น