วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 2

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 1
*******************************************************

กะเหรี่ยงกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
มีการบันทึกเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ชาติไทย มาหลายยุคหลายสมัย อาทิ
  • พ.ศ.2142 เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี ในครั้งนั้นมีแม่ทัพไทยท่านหนึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงมีชื่อว่า "แสนภูมิโลกเพชร"
  • พ.ศ.2205 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตีเมืองเชียงใหม่ได้ ซึ่งศึกครั้งนี้มีชาวกะเหรี่ยงและชาวละว้า เป็นกองอาทมาต (หน่วยรบพิเศษ)
  • พ.ศ.2318 ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อะแซหวุ่นกี้จัดกองทัพจะมาตีกรุงธนบุรี ศึกครั้งนี้ก็มีชาวกะเหรี่ยงและชาวละว้าแห่งเมืองศรีสวัสดิ์คอยหาข่าวให้ฝ่ายไทย
  • พ.ศ.2328 ในสงครามเก้าทัพ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กะเหรี่ยงจากเมืองสังขละบุรีมีใบบอกไปยังเมืองหลวง ไทยจึงสามารถจัดเตรียมการรับศึกด้านนี้ได้ทันเวลา 
  • ฯลฯ
ชาวกะเหรี่ยงมีส่วนสำคัญในการช่วยปกปักรักษาแผ่นดินสยามหลายต่อหลายครั้ง เป็นทั้งด่านหน้า กองสอดแนม กองอาทมาต และเป็นไพร่พลในการสู้รบกับพม่า ผู้นำกะเหรี่ยงหลายท่านที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายด่านและเจ้าเมืองในหัวเมืองตะวันตก เช่น พระพิชัยชนะสงคราม เป็นเจ้าเมืองศรีสวัสดิ์  หลวงประเทศเขื่อนขันธ์ เป็นนายกองด่านบ้านบ่องตี้ หลวงพิทักษ์บรรพต ขุนพิทักษ์ไพรวัลย์ เป็นนายกองด่านบ้านยางโทน และพระแม่กลองเป็นนายด่านดูแลชายแดนด้านอุ้มผางรอยต่อเมืองกำแพงเพชรและอุทัยธานี เป็นต้น

ส่วนกะเหรี่ยงโพล่งและปกาเกอะญอ ที่เมืองราชบุรี เป็นกะเหรี่ยงที่ปักหลักแหล่งบนพื้นราบมานานกว่า 200 ปี มีหน้าที่เป็นชาวด่านคอยดูแลชายแดนไทยด้านตะวันตก ผู้นำในอดีตที่เป็นนายกองด่านตำบลสวนผึ้ง คือ หลวงพิทักษ์คิรีมาตย์   นายกองด่านตำบลยางหัก คือหลวงวิเศษ คิรีรักษ์ และหากเลยไปยังบ้านลิ้นช้าง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ก็คือ หลวงศรีรักษา

โพล่งราชบุรีมาจากเมืองทวาย
กะเหรี่ยงโพล่งราชบุรี อพยพมาจากเมืองทวาย ดังมีบทกลอนที่กล่าวถึงการเดินทางของโพล่งว่า

"เหย่อ โอ้ คัง ถุเว   เหย่อ เง่ ถ่อง คู้หล่องผ้าดู้  เหย่อ เง่  โอ้ ซร้าย คัง"
(แปลเป็นภาษาไทยว่า "เราอยู่เมืองทวาย เรามาถึงภูเขาใหญ่  เรามาอยู่สยามประเทศ" )

โพล่งเดินทางอพยพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตั้งหลักแหล่งบริเวณแนวแม่น้ำแควน้อย (ทิ้ยโลวโหว่คลุ) ลงมาทางตอนใต้จนถึงปากแม่น้ำภาชี บริเวณบ้านท่าเสด็จ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี  แล้วย้อนขึ้นไปยังต้นแม่น้ำภาชี เข้าเขต อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

ภาพวาด กุ เคมบิง สาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง
โดย อ.สุรินทร์ เหลือลมัย
เมื่อ พ.ศ.2513
โพล่งและปกาเกอะญอ แถวราชบุรี ครั้งแรกกระจายกันอยู่ตามที่ราบเชิงเขา ริมแม่น้ำภาชีและลำห้วยที่เป็นสาขา  จึงเรียกกะเหรี่ยงเหล่านี้ตามบริเวณที่อยู่ว่า "โพล่งท่าตะเก" (ท่าตะเก อาจมาจากคำว่าท่าสะแก ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงดั้งเดิมอยู่ทางทิศเหนือของด่านเจ้าเขว้าประมาณ 2 กม.ในเขต ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในปัจจุบัน)  ต่อมาโพล่งบางครอบครัวขออพยพแยกลงมาทางใต้อีก ที่ บ้านรางบัว บ้านหนองอีหมัน และบ้านหนองกะเหรี่ยง (บ้านหนองกะเหรี่ยงนี้ ภายหลังชาวไท-ยวน ย้านมาอยู่แทนและเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านหนองนกกะเรียน)  ณ บริเวณนี้เกิดโรคระบาดและขาดแคลนน้ำทำนา กะเหรี่ยงจึงพากันอพยพเดินทางต่อลงไปทางใต้อีก ผ่านบ้านยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เรื่อยไปจนถึง บ้านพุพลูห้วยแห้ง อ.หนองหญ้าปล้อง บ้านวังวน บ้านสองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แถวต้นแม่น้ำเพชรบุรี เรื่อยไปถึงต้นแม่น้ำปราณบุรี แถบ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่  ต.แพรกตะคร้อ อ.หัวหิน และ ต.ศาลาชัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคิรีขันธ์

ท่าตะเกกลายเป็นหมู่บ้านร้าง
หมู่บ้านโพล่งท่าตะเก เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการลงโทษของสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ เกิดจากการที่คนในหมู่บ้านละเมิด กฏระเบียบ ประเพณีข้อห้ามของหมู่บ้าน โพล่งท่าตะเกจึงต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ โดยย้ายทวนกระแสน้ำขึ้นไป เพราะเชื่อว่าหากย้ายตามกระแสน้ำแล้ว ความเจ็บป่วยอาจจะไหลไปตามกระแสน้ำอีก จากนั้นมาหมู่บ้านท่าตะเกจึงกลายเป็นหมู่บ้านร้าง

โพล่งท่าตะเกหนีโรคระบาดไปอยู่ที่บ้านส้องเมิ๊ก (แปลภาษาไทยว่า บ้านที่มีความสุข ปัจจุบันบ้านส้องเมิ๊กนี้ก็คือบ้านสวนผึ้ง) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำภาชี และอยู่ต่อมาที่นี่ก็เกิดโรคระบาดและเหตุร้ายอีกครั้งหนึ่ง โพล่งจึงต้องเดินทางอพยพย้ายต่อไปยัง บ้านน๊องผุ-หนองชะอม(ปัจจุบันคือ บ้านบ่อ) และบ้านน๊องผุ่ง (ปัจจุบันคือบ้านทุ่งแฝก)

ดังนั้น บ้านสวนผึ้ง บ้านบ่อ บ้านทุ่งแฝก  จึงเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงโพล่งรุ่นแรกๆ ของ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นมณฑลราชบุรีในปี พ.ศ.2437

สรุปโดยภาพรวมแล้ว หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ต้องถูกทิ้งร้างในสมัยนั้น ได้แก่
  • เขตตำบลสวนผึ้ง ได้แก่ บ้านท่าตะเก บ้านทุ่งเรือ บ้านหนองไอ่ บ้านทุ่งหงส์ บ้านต้นมะค่า และบ้านยางห้าหลุม
  • เขตตำบลบ้านคา ได้แก่ บ้านลำพะ  บ้านท่าบุญจัน
  • เขตตำบลด่านทับตะโก ได้แก่ บ้านทุ่งแฝก บ้านเก่ากะเหรี่ยง
  • เขตตำบลรางบัว ได้แก่ บ้านรางบัว บ้านหนองอีหมัน และบ้านหนองกะเหรี่ยง (หนองนกกะเรียน)

โพล่งโด่งพริบพรี
กะเหรี่ยงราชบุรีและกะเหรี่ยงเพชรบุรี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากกว่ากะเหรี่ยงที่อยู่ทางแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ ใน จ.กาญจนบุรี โดยมักเป็นเครือญาติสนิทกันด้วยการแต่งงาน ดังนั้นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ภาษาพูดและสำเนียงจึงคล้ายกัน มีพิธีกรรมผูกแขนเรียกขวัญ เดือนเก้าเหมือนกัน (ดูรายละเอียด) มีการชุมนุมปีใหม่กะเหรี่ยงที่วัดแจ้งเจริญ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ทุกปี (ดูรายละเอียด)

กะเหรี่ยงเพชรบุรีเรียกกะเหรี่ยงราชบุรีว่า "โพล่งท่าตะเก"
กะเหรี่ยงราชบุรีเรียกกะเหรี่ยงเพชรบุรีว่า "โพล่งโด่งพริบพรี"

*****************************************************
อ่านต่อ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 3

ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น