วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยลาวเวียง ตอนที่ 1 ลาก่อนเวียงจันทน์

ลาก่อนเวียงจันทน์
ประชุมพงศาวดารเล่ม 10 ขององค์การค้าคุรุสภา บันทึกไว้ว่า
"เถิงจุลศักราชได้ 1141 ตัว ปีกัดไก๊นั้น เมืองอโยทธยา ก็ยกเอากองทัพขึ้นมารบเอาเมืองจันทบุรีหั้นแล เถิงเดือน 12 ลง 4 ค่ำ เวียงจันทบุรีก็แตกหั้นแล ดังมหากษัตริย์เจ้าเวียงจันทน์นั้น ก็หนีไปเมืองแกวหั้นแล ชาวใต้ก็ได้ลูกเจ้าเมืองจันทบุรีผู้หนึ่งชื่อ เจ้านันทเสน กับลูกสาวมหากษัตริย์เวียงจันทน์ผู้หนึ่งชื่อ  นางเขียวค้อม และไพร่ไทยทั้งหลาย เอาลงไปเมืองใต้พุ้นนั้นแล ยามเจ้าอริยวงศ์ตนเป็นพ่อเจ้าหลวงวิธูรและไพร่ไทยชาวน่านซึ่งอันติดตามท่านไปอยู่เมืองจันทบุรีนั้น ชาวใต้ก็กวาดลงไปเมืองใต้เสี้ยงหั้นแล  อยู่มาเถิงจุลศักราช 1143 ตัวปีลวงเป้า เดือน 3 ลงค่ำหนึ่ง วันเสาร์ เจ้าพระยาอริยวงศ์ตนเป็นพ่อเจ้าหลวงวิธูรนั้นก็เถิงแก่กรรมตายไปในเมืองใต้ที่นั้นหั้นแล"

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา
http://www.thaimtb.com/cgi-bin/
viewkatoo.pl?id=125975&st=169
พงศาวดารสำนวนภาษาเหนือนี้ สรุปได้ความว่า เมื่อ พ.ศ.2322 กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทร์ (ซึ่งสำนวนภาษาอาจเรียกว่าเมืองจันทบุรีหรือเวียงจันทบุรี) จนเมืองเวียงจันทน์แตก พระมหากษัตริย์ของเวียงจันทน์หนีไปเมืองเวียดนาม(แกว) แล้วทางกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้นำตัวพระเจ้านันทเสน ราชโอรส และนางเขียวค้อม ราชธิดา ตลอดจนชาวเมืองเวียงจันทน์ กวาดต้อนลงใต้กลับมายังกรุงธนบุรี

ในเรื่องนี้มีบางบันทึกก็กล่าวไว้สอดคล้องกันและมีความชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ
เมื่อปีจอ พ.ศ.2321 ต่อปีกุน พ.ศ.2322 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ยกทัพไปตีหัวเมืองล้านช้าง ได้แก่ เวียงจันทน์  หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ และหัวเมืองริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออก สาเหตุเพราะในสมัยนั้นเจ้านายลาวเกิดความไม่ปรองดองกัน พระวอพระตา เจ้านายของลาวได้หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยอพยพผู้คนมาอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อเจ้าสิริบุญสาร ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ทราบข่าว ก็โปรดให้ยกกองทัพเข้ามาในเขตไทยจับพระวอพระตาฆ่าทิ้งเสีย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯ ให้ยกกองทัพไปปราบและเลยขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์เสียในคราเดียว

ลาก่อนเวียงจันทน์
เมื่อยึดเมืองเวียงจันทน์ได้แล้ว ได้โปรดให้กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ พร้อมด้วยอาวุธและทรัพย์สินลงมาด้วย ซึ่งในชาวลาวนี้มีโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารรวมอยู่ด้วย 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ และเมื่อเดินทางมาถึง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง 3 พระองค์พำนักอยู่ที่บางยี่ขัน (บริเวณวัดดาวดึงส์ ในปัจจุบัน)   ส่วนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ที่เหลือ ให้นำไปรวมไว้ที่เมืองสระบุรี และแบ่งบางส่วนไปที่เมืองจันทบุรี และเมืองราชบุรี

ใช้ลาวแลกลาว..ถูกกวาดต้อนรอบสอง
ต่อมา พ.ศ.2335 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระเจ้านันทเสน เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้ยกทัพไปตีเมืองพวนและเมืองแดง กวาดต้อนครอบครัวลาวพวนและลาวทรงดำ มาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อแลกเปลี่ยนกับชาวลาวเวียงจันทน์ที่อยู่ในประเทศไทย ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไม่ยอมประทานแลกเปลี่ยน และทรงสั่งปลดพระเจ้านันทเสนออกจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์ พร้อมกับทรงยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ให้เข้ามาอยู่ในหัวเมืองชั้นในมากยิ่งขึ้น 

ที่มาของภาพ
http://www.pailinbooknet
.com/review/product/
list/id/2768/category/57/
กบฏเมืองเวียงจันทน์..ถูกกวาดต้อนรอบสาม
พ.ศ.2369-2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้ก่อกบฎไม่เป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกทัพของเมืองเวียงจันทน์และเมืองจำปาศักดิ์ เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา พร้อมยกกองทัพลงมากวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์ที่เมืองสระบุรีกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงโปรดให้ยกกองทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์กลับมาอยู่ในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

และชาวลาวเวียงจันทร์ ที่ถูกกวาดต้อนในรอบนี้ บางส่วนได้ถูกนำมาพำนักที่เมืองราชบุรีเป็นระลอกที่สอง


*****************************************
อ่านต่อ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยลาวเวียง ตอนที่ 2  อิสระภาพ

ที่มาข้อมูล
  • ประพันธ์  อุบลธรรม. (2547). ไทลาวเวียง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 3 ผู้เฒ่าไท-ยวนบ้านปู่ฟ้า

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไท-ยวน ตอนที่ 2 ชีวิตที่เมืองราชบุรี
************************************************************************

ด้วยพื้นที่แถวบ้านไร่นทีริมฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลอง เริ่มไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ชาวไท-ยวน บางส่วนจึงพากันอพยพเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่ เช่นที่ ตำบลดอนตะโก และตำบลคูบัว โดยมีผู้นำอพยพสองพี่น้องชื่อว่า "หนานฟ้า" และ "หนานขัน"

บ้านปู่ฟ้า-บ้านปู่ขัน
หนานฟ้าผู้พี่เห็นว่าที่ลุ่มริมห้วย (คูเมืองโบราณสมัยทวารวดี) เต็มไปด้วยดอกบัวเหมาะที่จะเป็นทำเลตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่ จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งเหนือของลำห้วยแห่งนี้  ซึ่งมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า หมู่บ้านแห่งนี้เรียกชื่อว่า "บ้านปู่ฟ้า" ส่วนหนานขันผู้น้อง พาครอบครัวส่วนหนึ่งข้ามไปยังทิศใต้ของลำห้วย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น และเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านปู่ขัน"

ต่อมาเมื่อชาวไท-ยวนมีลูกหลานมากขึ้นจึงขยายครัวเรือนไปตั้งถิ่นฐานใหม่อีก บริเวณหมู่บ้านวัดแคทราย และหนามพุงดอ ซึ่งชาวไท-ยวน เรียกผู้คนที่อาศัยอยู่ที่วัดแคทรายว่า "บ้านใน" และผู้คนที่อาศัยอยู่หนามพุงดอว่า "บ้านนอก"
  • ชาวไท-ยวน ที่บ้านปู่ขันและบ้านปู่ฟ้าสร้างวัดของหมู่บ้านชื่อว่า "วัดใน" ซึ่งปัจจุบันคือ วัดคูบัว
  • ชาวไท-ยวน ที่บ้านแคทราย สร้างวัดของหมู่บ้านชื่อว่า "วัดน้อย" ซึ่งปัจจุบันคือ วัดแคทราย
  • ชาวไท-ยวนที่หนามพุงดอ สร้างวัดของหมู่บ้านชื่อว่า "วัดนอก" ซึ่งปัจจุบันคือ วัดหนามพุงดอ

ประชากรชาวไท-ยวน ในราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2537
ประชากรชาวไท-ยวนในจังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2537 มีประมาณ 62,568 คน จากประชากรของจังหวัดราชบุรีทั้งหมดในขณะนั้น 790,143 คน คิดเป็นประชากรชาวไท-ยวน ร้อยละ 7.91 และสามารถแยกเป็นรายอำเภอได้ ดังนี้
  • อ.เมืองราชบุรี จำนวน 33,227 คน คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของจังหวัด และร้อยละ 24.48 ของ อ.เมือง
  • อ.บ้านโป่ง จำนวน 6,026 คน คิดเป็นร้อยละ 0.76 ของจังหวัด และร้อยละ 4.55 ของ อ.บ้านโป่ง
  • อ.โพธาราม จำนวน 6,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.75 ของจังหวัด และร้อยละ 3.60 ของ อ.โพธาราม
  • อ.จอมบึง จำนวน 5,170 คน ร้อยละ 0.65 ของจังหวัด และร้อยละ 9.09 ของ อ.จอมบึง
  • อ.บางแพ จำนวน 292 คน คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของจังหวัด และร้อยละ 0.67 ของ อ.บางแพ
  • อ.ปากท่อ จำนวน 8,183  คน คิดเป็นร้อยละ 1.03 ของจังหวัด และร้อยละ 16.93 ของ อ.ปากท่อ
  • อ.สวนผึ้ง จำนวน 3,670 คน คิดร้อยละ 0.46 ของจังหวัด และร้อยละ 7.59 ของ อ.สวนผึ้ง

สายเลือดไท-ยวน เริ่มจางลง
ในงานวิจัยของอาจารย์อุดม สมพร เรื่องผ้าจกไท-ยวนราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2538 ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ถึงชาวไท-ยวนจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันว่า

ลักษณะดั้งเดิมของผ้าตีนจกไท-ยวนจากหมู่บ้านคูบัว จ.ราชบุรี
 สีที่โดดเด่นจะเป็นโทนสีแดงเข้ม สลับด้วยสีของเส้นไหมแนวนอน
 เช่น สีขาว, เหลือง,ส้ม และดำ ทำให้เป็นผ้าลายตีนจกที่สวยงาม
ที่มาของภาพ
ผ้าไหมพุมเรียง
http://th-th.facebook.com/
note.php?note_id=161135313947063
"ในระยะเแรกการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดราชบุรี ชาวไท-ยวน ก็ยังคงรักษาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยล้านนา ไว้อย่างเคร่งครัด ต่อมาได้ผสมกลมกลืนกับประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนภาคกลาง ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของราชบุรี  ความเคร่งครัดในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมลดน้อยลง ชีวิตเริ่มปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อการมีชีวิตรอด ฉะนั้นศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต เช่น การเกิด การกิน การตาย ความเชื่อ ความศรัทธา เริ่มเลือนหายไป 

ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความแปลกใหม่ ความเป็นอารยะธรรมจากวัฒนธรรมอื่นเข้ามาแทนที่ สายเลือดไท-ยวน ล้านนาที่อยู่ในตัวลูกหลานไท-ยวนเริ่มจางลง แม้เวลาผ่านมาเพียง 191 ปีเท่านั้น  ปัจจุบันเกือบไม่มีเอกลักษณ์อันใดที่จะแสดงถึงความเป็นไท-ยวน(ล้านนา) ในอดีตให้เห็น นอกจาก ภาษาพูดและศิลปะการทอผ้าจกซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงไท-ยวน ซึ่งยังหลงเหลืออยู่บ้างในท้องที่ เช่น ตำบลคูบัว ตำบลดอนแร่ ตำบลห้วยไผ่ ในอำเภอเมือง และตำบลรางบัว ในอำเภอจอมบึง"


**************************************
ที่มาข้อมูล
  • อุดม สมพร . (2547). ไท-ยวน. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • อุดม สมพร. (2538). งานวิจัย : ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. กระทรวงศึกษาธิการ : กรมอาชีวศึกษา.
อ่านต่อ >>