วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 1

เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยงในราชบุรี นี้ ผู้จัดทำได้สังเคราะห์มาจากหนังสือหลายเล่มที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในจังหวัดราชบุรี ได้เขียนและจัดพิมพ์ไว้  ซึ่งตั้งใจจะบันทึกไว้เพื่อให้สามารถใช้สืบค้นได้ในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง เรื่องราวของไทยกะเหรี่ยงในราชบุรีนี้ มีความยาวมาก ผู้จัดทำจึงได้จัดแบ่งออกเป็นหลายตอนเพื่อสะดวกในการอ่านต่อไป 

ประวัติความเป็นมา
ประเทศไทยถือว่ากะเหรี่ยงเป็นชาวไทยภูเขากลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในราชอาณาจักร มีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษา และการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นยังเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องป่าและพืชพรรณต่างๆ เป็นอย่างดี นักวิชาการในอดีตได้แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่
  1. กะเหรี่ยงสกอว์ หรือปกาเกอะญอ
  2. กะเหรี่ยงซูว หรือ โผล่ว, โพล่ง
  3. กะเหรี่ยงคะยาห์ หรือ ยางแดง
  4. กะเหรี่ยงตองซู
นักวิชาการสมัยใหม่กลับมองเห็นว่า คะยาห์ และตองซู (หรืออาจเรียกว่าต้องสู้) ไม่ไช่กะเหรี่ยงเพราะเป็นเผ่าเอกเทศที่มีภูมิหลัง ภาษา พฤติกรรมทางสังคม ลักษณะทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ และการแต่งกายเป็นลักษณะเด่นแตกต่างจากกะเหรี่ยง

ต้องสู คือเงี้ยว (ไทยใหญ่ที่อยู่ในภาคเหนือ) หรือ กุลา (คุลา) ที่อยู่ในภาคอีสาน พวกนี้เป็นักเดินทางเร่ร่อนค้าขายทางไกลโดยใช้วัวต่างหรือกองเกวียน 

คะยาห์ หรือยางแดง อยู่แถบลุ่มแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย ในรัฐกะยาห์หรือรัฐคะเร็นนี่ คู่กับรัฐกอทูเลของกะเหรี่ยงในประเทศพม่า คะยาห์ (ยางแดง) จะเรียกตัวเองว่า แบร, บะไฆ, บะเว และกะยาห์  มีบางส่วนอพยพเข้ามาอยู่ชายแดนประเทศไทยที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่

Kayan/Karen
ภาษาพม่าโบราณเรียกชาวกะเหรี่ยงว่า "เกอะยาง/กะยาง (Kayan)" ส่วนชาวล้านนาในอดีตเรียกคนกะเหรี่ยงคล้ายพม่า แต่ตัดพยางค์หน้าออกเหลือแต่พยางค์หลัง โดยเรียกว่า "ยาง" ต่อมาฝรั่งชาติตะวันตกมักเขียนว่า "Karen (คะเร็น)"  ซึ่งมีความหมายว่า กะเหรี่ยง ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงกะเหรี่ยงในภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า "Karen"  สืบมา

ยางขาว/ยางแดง
ชาวล้านนาเป็นผู้ที่รู้จักและผูกพันกับกะเหรี่ยงมายาวนาน ชาวล้านนามักเรียกกะเหรี่ยงแยกออกเป็นกลุ่มตามแต่ที่นิยมใส่เสื้อผ้า เช่น กะเหรี่ยงที่นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาว เรียกว่า "ยางขาว" ส่วนกะเหรี่ยงที่นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีแดงจะเรียกว่า "ยางแดง" การเรียกของชาวล้านนานี้ก็เรียกเพื่อให้เห็นความแตกต่างเท่านั้น  ต่อมาภายหลังมีการเรียกว่า "กะเหรี่ยง" มากขึ้น คำว่าว่ายาง ซึ่งเป็นภาษาพูดก็ค่อยเลือนหายไป เหลือเพียงเป็นคำเรียกขานปรากฏอยู่ในเอกสารเก่าๆ หรือเป็นภาษาพูดของชาวล้านนาผู้สูงอายุเท่านั้น

ที่มาของภาพ
http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_16.html
ชาวกะเหรี่ยงในราชบุรี
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในราชบุรี มี 2 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยงสกอว์ (ปกาเกอะญอ) และกะเหรี่ยงซูว (โผล่ว,โพล่ง, โพล่วง) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีสำนึกทางสังคม ภาษา ลักษณะทางเชื้อชาติ ความเชื่อ พฤติกรรมทางสังคมและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกัน และได้รับการยอมรับจากกลุ่มกะเหรี่ยงอิสระรัฐกอทูเล ประเทศพม่า ซึ่งวิชาภาษาปกาเกอะญอและภาษาโพล่ง ที่พูดกันนี้ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของรัฐกอทูเลด้วย

ปกาเกอะญอ มีความหมายในภาษาไทยว่า " เราเป็นคน เป็นมนุษยชาติที่เรียบง่าย และเราเป็นคนสมถะ" (ปกา แปลว่า เรา พวกเรา ,เกอะยอ แปลว่า คน มนุษยชาติ เรียบง่าย)

โพล่ง มีความหมายในภาษาไทยว่า "เราเป็นคนหรือเราเป็นมนุษยชาติ" (โพล่ง แปลว่า คน มนุษยชาติ)

ในบางเอกสารระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงในราชบุรีเรียกตนเองว่า หละโพล่ง/เหลอะโผล่ง (ออกเสียงพยางค์แรกไม่เต็มสระและเบากว่าพยางค์หลัง) มีความหมายในภาษาไทยว่า "คน หรือ มนุษย์" และบางเอกสารก็บอกว่าชาวกะเหรี่ยงเรียกตนเองว่า กะโพล่ง, โพล่ง, โปว์ หรือ โป ก็มี การที่มีการเขียนชื่อและเรียกชื่อกะเหรี่ยงที่แตกต่างกันหลายแบบนี้ ขึ้นอยู่กับเสียงภาษากะเหรี่ยงที่ได้ยิน และนำมาเขียนในภาษาไทยซึ่งบางครั้ง ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนแทนเสียงได้ทุกภาษา และเคยมีเรียกชาวกะเหรี่ยง เป็น กะหร่าง ก็ยังมี

เกรี่ยง
ชาวมอญเรียก กะเหรี่ยง ว่า เกรี่ยง เมื่อครั้งอยู่ในประเทศพม่า ชาวมอญมีความสัมพันธ์กับชาวกะเหรี่ยงอย่างแนบแน่น แม้ชาวมอญจะอพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแถบลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว ประเพณีการรำผีมอญ จึงมีการรำผีกะเหรี่ยงด้วย โดยนับถือควบคู่กันไป ชาวไทยภาคกลางในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกกะเหรี่ยงตามชาวมอญว่า เกรี่ยงหรือกะเหรี่ยง 


*******************************************
อ่านต่อ : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 2

ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น