วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 4

ต่อจาก 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี : ไทยกะเหรี่ยง ตอนที่ 3
********************************************************


กะเหรี่ยงในยุคไทยตะนาวศรี
ในระยะเวลาประมาณปี พ.ศ.2511 พื้นที่ อ.สวนผึ้ง เป็นเขตพื้นที่สีชมพู เพราะเกิดจากการแทรกซึมของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ในแนวชายแดนไทยเขตป่าและภูเขาในภาคตะวันตก  รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จะหลบหนีเข้าป่า จ.ราชบุรีเป็นพื้นที่จรยุทธพื้นที่หนึ่งที่ติดต่อจาก จ.เพชรบุรี ผ่านขึ้นไปทาง จ.กาญจนบุรี เริ่มต้นจากผืนป่ารอยต่อ อ.ปากท่อ ผ่านบังกะม่า โป่งกระทิง พุน้ำร้อน ข้ามเขาจมูกไปยังบ้านบ่อเก่า  สวนผึ้ง ผ้่านทุ่งกระต่าย ท่ากุลา ห้วยคลุม ออกไปทุ่งกระถิน โกรกสิงขร ด่านทับตะโก ทุ่งแฝก  แก้มอ้น หนองปรือ ด่านมะขามเตี้ย หนองตากยา เข้าเขต จ.กาญจนบุรี

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 20
ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม  กิตติขจร ได้จักส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 20 (นพค.) ของ กรป.กลาง กองบัญชาการทหารสูงสุด ประกอบไปด้วยกำลังพลจาก 3 เหล่าทัพ และพลเรือนจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นแถบชายแดนตะวันตก ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

นพค.20 เข้าปฏิบัติงานที่สวนผึ้ง วันที่ 20 มี.ค.2511 ขณะนั้นที่สวนผึ้ง มีนายระเอิน  บุญเลิศ เป็นกำนันตำบลสวนผึ้ง ภารกิจหลักคือ การเข้าช่วงชิงมวลชนในเขตพื้นที่เป้าหมาย คือ ต.ด่านทับตะโก ต.สวนผึ้ง อ.จอมบึง โดยใช้การปรับปรุงและเปิดเส้นทางระหว่างหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปได้สะดวกและเพื่อให้สามารถติดต่อกับทางราชการได้สะดวกขึ้นด้วย

กำเนิด"ไทยตะนาวศรี"
นโยบายที่รัฐบาลในสมัยนั้นใช้กับชนกลุ่มน้อย คือ การกลมกลืนทางวัฒนธรรมและการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสรุปใจความได้ว่า "เพื่อจะให้ไม่มีชาวเขาอยู่ และจะมีแต่ชาวไทยทั้งหมด" รัฐบาลจึงมีการบัญญัติศัพท์เรียกกะเหรี่ยงสวนผึ้งว่า "ไทยตะนาวศรี"  โดบรัฐบาลทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนชาวเขาในช่วงปี พ.ศ.2512 เพื่อต้องการทราบว่ามีจำนวนเท่าใดของชาวเขาในประเทศไทย และเพื่อสะดวกในการควบคุมไม่ให้เกิดเงื่อนไขชักจูงไปเป็นพวกคอมมิวนิสต์ และได้ทำการอพยพชาวเขาลงมาสู่ที่ราบ บริวเญหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านพุระกำ จัดหาที่ทำกินให้ และจัดทำเหรียญชาวเขาแจกจ่ายให้กะเหรี่ยงทุกคน 

เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน
http://rb-book.blogspot.com/2011/08/blog-post_19.html

ในระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม  พ.ศ.2519 ได้มีการจัดอบรมลูกเสือชาวบ้านให้แก่ ชาวไทยตะนาวศรี ซึ่งนับเป็นลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 123/3 การอบรมในครั้งนี้ได้หลอมละลายชาวไทยตะนาวศรี เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวกะเหรี่ยงได้แสดงออกถึงความเป็นไทยที่แท้จริง  ที่มีความรักชาติ รักแผ่นดินไทย และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทยในหมู่เหล่าใด

กะเหรี่ยงอพยพสู่บ้านถ้ำหิน
พ.ศ.2538 กองทัพพม่าเริ่มบุกโจมตีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen Naาtional Union -KNU)  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2540 มีกะเหรี่ยงอพยพลี้ภัยกว่า 102,000 คน ได้เข้ามาหลบภัยอยู่ในประเทศไทย ในที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งทััวประเทศ  โดยที่ จ.ราชบุรี ได้เข้ามาลี้ภัย ณ  "ที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน" อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังมีกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัยอยู่ในบ้านถ้ำหินนี้ อยู่อีกกว่า 4,800 คน  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด
ปัจจบันชาวกะเหรี่ยง ถูกบันทึกไว้เป็น 1 ใน 8  ชาติพันธ์ของจังหวัดราชบุรี โดยเรียกกันว่า "ชาวไทยกะเหรี่ยง" ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงยังมีการค้นหาประวัติศาสตร์ของเขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไว้ถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้แก่ลูกหลานและชาวโลกได้ฟัง อีกทั้งยังมีการสืบทอดประเพณีศิลปวัฒนธรรม โดยเครือข่ายและองค์กรพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องราวของกะเหรี่ยงนี้ คือ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงแท้ และเป็นผู้ทำงานวิจัยเรื่อง  " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " ในโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546  ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). ผู้อ่านสามารถติดต่อกับท่านได้ทาง Facebook ของท่าน (พิมพ์ค้นหา วุฒิ บุญเลิศ)


*******************************************************
อ่านเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล
  • วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรม จ.ราชบุรี.
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น