วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

บ้านสิทธิดา ศูนย์พัฒนาการเด็กพิการ ที่บ้านโป่ง

น้องเล็ก มารีอา สิทธิดา จันทราทิพย์ 
วันนี้ บริษัทฯ ของผมได้รับการ์ดเชิญจากมูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทย ร่วมกับนายแพทย์ประสิทธิ์ และคุณลัดดา  จันทราทิพย์ เชิญเข้าร่วมทำข่าวพิธีเปิด และเสก "บ้านสิทธิดา -ศูนย์พัฒนาการเด็กพิการ (มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทย)"  ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2554  ณ เลขที่ 31/2 ม.10 ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  เวลา 09:00 น. โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด

หลังจากได้รับการ์ด ดังกล่าว ผมรู้สึกสนใจในรายละเอียดทันที และได้พยายามอ่านจากแผ่นพับ โบว์ชัวร์ ต่างๆที่ส่งมาให้  รวมทั้งสืบค้นเรื่องราวของ บ้านสิทธิดา นี้จากเว็บไซต์ของเขาทันที (http://www.sitthidacamillian.org ) จึงได้ทราบเรื่องราวพอสังเขป และรู้สึกยกย่องในความตั้งใจครั้งนี้ ของนายแพทย์ประสิทธิ์ และคุณลัดดา  จันทราทิพย์  ที่จะสร้างเป็นที่ระลึกและเป็นผลบุญให้แก่ธิดาคนเดียวของทั้งสองท่าน "สิทธิดา จันทราทิพย์ (น้องเล็ก) " (ดูประวัติ) ที่จากไปด้วยโรคร้ายเมื่ออายุเพียง 11 ปี และการสร้างศูนย์ฯ  ครั้งนี้ ยังจะเป็นประโยชน์สำคัญแก่ผู้พิการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี อีกทางหนึ่งด้วย

บ้านสิทธิดา - ศูนย์พัฒนาการเด็กพิการ
ตั้งอยู่เลขที่ 31/2 หมู่ 10 ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ด้านหลังโรงพยาบาลซานคามิลโล)  เป็นบ้านที่สร้างเพื่อเป็นการระลึกถึง "ความดี" "ความงาม" "ความน่ารัก" และเป็นไปตามปรารถนาของ น้องเล็ก มารีอา สิทธิดา จันทราทิพย์ ก่อนจากไปเกิดใหม่ในพระเจ้า ด้วยโรคเนื้องอกในสมองเมื่อ 23 เม.ย.2540 โดยมอบให้มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยอาศัยประสบการตรงจาก บ้านคามิลเลียนเพื่อคนพิการ (Camillian Home)  ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการของมูลนิธิฯ ตั้งอยู่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บ้านสิทธิดาฯ จะเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มศักยภาพให้แก่เด็กพิการกำพร้า ยากไร้ และถูกทอดทิ้งในพื้นที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี


ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
สร้างโอกาส...ฟื้นฟู....พัฒนา...ดูแลรักษา...และให้การศึกษา
วัตถุประสงค์การสร้าง คือ  เป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับครอบครัวอาสา เป็นที่พักพิงของเด็กพิการทุกประเภทที่กำพร้า ถูกทอดทิ้งใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และเพื่อมอบปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

บ้านสิทธิดา ยังมีหน้าที่พิเศษในการจัดสรรการทำกายภาพบำบัด พัฒนา ปรับปรุง ลักษณะความพิการรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

บ้านสิทธิดา ให้การศึกษาพื้นฐานเพื่อเด็กพิการ ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งวิชาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในที่สุด

บ้านสิทธิดา มุ่งอยากที่จะอบรมสั่งสอนเด็กพิการในบ้าน เพื่อให้เป็นเด็กที่มีพื้นฐานจิตใจดี มีจิตสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี ตามความเชื่อทางศาสนา ร่วมรับผิดชอบและช่วยเหลือสังคมต่อไป

*********************************

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจจะสร้างกุศล สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังขาดแคลนได้ ยังมีสิ่งของที่จำเป็นอีกมากมาย ที่รอคอยการช่วยเหลือและสนับสนุนจากท่าน เพื่อน้องๆ เด็กพิการในบ้านโป่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-3222-3383, 08-1770-9510 โทรสาร.0-3222-3382 อีเมล์ donate@sitthidacamillian.org

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม  http://www.sitthidacamillian.org


แผนที่ตั้ง บ้านสิทธิดา ศูนย์พัฒนาการเด็กพิการ
ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

ชุมชนคนจีนในอดีตจากบ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน


ชุมชนชาวจีนบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่งถึงบ้านเจ็ดเสมียนนั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะปรากฏชาวจีน 4-5 ครอบครัว อาศัยอยู่ทุกชุมชนหมู่บ้าน ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ทำไร่ ทำนา ทำสวนและจับปลา ส่วนชาวจีนที่อยู่เป็นกลุ่มชุมชน ได้แก่


ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
มีบริเวณบ้านเบิกไพร มีศาลเจ้าแม่เบิกไพรเป็นศูนย์กลาง และใต้ลงมาบริเวณตลาดคุ้งพยอม มีศาลเจ้าองค์เอี้ย เป็นศูนย์กลาง บริเวณนี้เป็นชุมชนทางการค้าที่คนภายใน โดยเฉพาะคนลาวบริเวณหนองปลาหมอ จะนำข้าวและของป่าใส่เกวียนมาแลกของอุปโภคบริโภคที่มาทางเรือ จึงมีชาวจีนอยู่หลายสิบครอบครัว


ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
มีชุมชนชาวจีนหนาแน่นอยู่หลายแห่ง  เพราะบริเวณแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะต่อการเกษตรกรรม จึงมีชาวจีนค้าขายและทำการเกษตรกรรม ชุมชนชาวจีนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่  บริเวณโรงหีบอ้อย ซึ่งปรากฏในแหนที่ทางรถไฟ พ.ศ.2441 มี 2 แห่ง คือ เหนือตลาดบ้านโป่ง และใต้ตลาดบ้านโป่งลงมาเล็กน้อย  บริเวณโรงหีบอ้อยนี้มีชาวจีนหลายพวกหลายภาษาอยู่


***************************************************

ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 43-46)


อ่านต่อ >>

ชุมชนคนเขมรในอดีตจากบ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน



ชุมชนเขมรบริเวณบ้านโป่งถึงเจ็ดเสมียนนี้ จะปรากฏอยู่ตอนล่างทั้งสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันเป็นบริเวณที่มีคนไทยปะปนอยู่ด้วย แต่ใอดีตเป็นชุมชนเขมรเป็นส่วนใหญ่ ที่มาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของคนไทยซึ่งตอนนั้นยังมีคนไทยอยู่ไม่มากนัก แรกเริ่มคนเขมรทำบุญที่สัดไทย และค่อยสร้างวัดเองร่วมกับคนไทยในภายหลัง

ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
จากเหนือลงใต้ ชุมชนเขมร ได้แก่ บริเวณเหนือวัดสนามชัย (พ.ศ.2250 สมัยอยุธยา) ลงไปถึงบริเวณใต้วัดเจ็ดเสมียน (พ.ศ.2300 สมัยอยุธยา)

ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
จากเหนือลงใต้ ชุมชนเขมร ได้แก่  บริเวณวัดบางโตนด (พ.ศ.2420 รัชกาลที่ 5) ลงไปถึงวัดสมถะ (พ.ศ.2414 รัชกาลที่ 5)

ทั้งสองฝั่งอยู่ตรงข้ามกัน และด้านตะวันตกของวัดบางโตนดเข้าไป เคยเป็นสมรภูมิรบในสงครามไทยรบพม่าในสมัยธนบุรี (ศึกบางแก้ว) และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 สมรภูมิบริเวณนี้ใกล้เขางู เขาพระ เหนือเมืองราชบุรี

ชาวเขมรนี้รุ่นปู่ย่าตายายล้วนพูดภาษาเขมร และนอกจากจะนับถือศาสนาพุทธแล้ว ชาวเขมรยังนับถือผี ดังปรากฏศาลเก่าแก่ บริเวณตำบลเจ็ดเสมียนอยู่ 3 ศาลให้เคารพสักการะคือ ศาลตาประกำ ศาลตาราม และศาลเจ้าแม่ทับทิม โดยเฉพาะศาลตาประกำนี้ ชาวบ้านเล่าว่าเป็นศาลที่สมัยก่อนช้างเดินผ่านหรือล่องน้ำมาจะต้องแวะทำความเคารพก่อนจึงจะเดินทางต่อไป

เขมรบริเวณนี้ มิใช่กลุ่มเขมรสุรินทร์ เพราะพูดกันไม่เข้าใจนัก เป็นคนละกลุ่ม ชาวบ้านบางคนมักแบ่งเขมรในเมืองราชบุรีบริเวณนี้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเขมรโบราณ (หรือเขมรเก่า) กับกลุ่มเขมร ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้


**********************************************

ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 39-40)


อ่านต่อ >>

ชุมชนคนลาวในอดีตจากบ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน


ลาวเคยเป็นกลุ่มที่อยู่ที่อยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่อำเภอบ้านโป่ง ลงไปถึงอำเภอโพธารามมาก่อน เมื่อชาวมอญอพยพลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ และโดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มอญ 7 เมือง พาผู้คนลงมาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลองบริเวณตั้งแต่บ้านโป่งถึงโพธารามได้  ลาวจึงอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนในแผ่นดินเข้าไปทั้งสองฝั่ง เข้าไปอยู่ที่ดอน ซึ่งปกติลาวบางกลุ่มมักชอบอยู่ที่ดอนและใกล้หนองน้ำ

ลาวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านโป่งถึงบ้านเจ็ดเมียนนี้ส่วนใหญ่ อพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ในฐานะเชลยที่ถูกกวาดต้อนมา ให้มาตั้งถิ่นฐานเพื่อเป็นกำลังในการทำสงครามกับพม่า

นอกจากนี้ยังมีลาวที่อพยพมาขากเพชรบุรี สุพรรณบุรี และภาคกลางของไทย เข้าไปตั้งถิ่นฐานหาที่ทำกินในในลุ่มน้ำแม่กลองบริเวณนี้ด้วย  ลาวบริเวณนี้มีหลายกลุ่มทั้ง ลาวยวน  ลาวเวียง ลาวโซ่ง  ลาวพวน และลาวครั่ง แต่ละกลุ่มต่างตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มๆ ลาวเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน  ต่างกลุ่มจึงมีวัดของตนเป็นศูนย์กลางชุมชน

ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
จากเหนือลงใต้ ย่านชุมชนลาวอยู่ถัดเข้าไปตอนใน  ได้แก่บริเวณบ้านกำแพงใต้ (วัดกำแพงใต้ พ.ศ.2127 สมัยอยุธยา) บ้านเลือก (วัดบ้านเลือก พ.ศ.2343 รัชกาลที่ 1) บ้านบางลาน (วัดบางลาน พ.ศ.2360 รัชกาลที่ 2) บ้านดอนทราย (วัดดอนทราย พ.ศ.2377 รัชกาลที่ 3) บ้านกำแพงเหนือ (วัดกำแพงเหนือ พ.ศ.2400 รัชกาลที่ 4) บ้านหนองอ้อ (วัดหนองอ้อ พ.ศ.2401 รัชกาลที่ 4) บ้านหนองหูช้าง บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านมะขาม บ้านหุบมะกล่ำ (วัดหุบมะกล่ำ พ.ศ.2420 รัชกาลที่ 5) บ้านวัดโบสถ์ (วัดโบสถ์ พ.ศ.2434 รัชกาลที่ 5) บ้านฆ้อง (วัดบ้านฆ้อง พ.ศ.2443 รัชกาลที่ 5) และบ้านสิงห์ (วัดบ้านสิงห์ พ.ศ.2446 รัชกาลที่ 5) เป็นต้น   


ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
จากเหนือลงใต้ ด้านนี้มีชุมชนลาวเก่าแห่งหนึ่ง และเป็นแห่งเดียวริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คือ ชุมชนลาวบริเวณวัดสร้อยฟ้า (พ.ศ.2332 รัชกาลที่ 1) ชุมชนลาวถัดเข้ามาตอนใน ได้แก่ บ้านหนองปลาหมอ (วัดหนองปลาหมอ พ.ศ.2463 รัชกาลที่ 5) บ้านหนองคา บ้านหนองสองห้อง (วัดหนองสองห้อง) บ้านหนองกลางดง (วัดหนองกลางดง พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 5) บ้านอู่ตะเภา บ้านวังมะนาว เป็นต้น

ชุมชนลาวนี้ส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกมากกว่าฝั่งตะวันตก เพราะฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มกว่า มีแหล่งน้ำเหมาะต่อการตั้งถิ่นฐาน ทำนา ทำไร่

ลาวกลุ่มต่างๆ มักมีความเชื่อเรื่องผี นับถือผีอย่างแน่นแฟ้น และนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ทำให้กลุ่มลาวต่างๆ ทั้งลาวยวน  ลาวเวียง ลาวโซ่ง และลาวครั่ง ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมที่สืบทอดกันมาแต่สมัยบรรพบุรุษได้  เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มลาวต่างผูกพันกัน และยังดำรงวัฒนธรรมของกลุ่มอยู่บ้างจนถึงทุกวันนี้


**************************************************

ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 35-38)


อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ชุมชนคนมอญในอดีตจากบ้านโป่ง-บ้านโพธาราม


ชาวมอญในอดีตนี้อยู่ริมแม่น้ำแม่กลองมาก เฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำตั้งแต่บ้านโป่งถึงบ้านโพธาราม

ชาวมอญเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดมาก จึงสร้างวัดขึ้นในชุมชนของตน แต่ละหมู่บ้านจึงมีวัดมอญตั้งเรียงรายอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง  ตั้งแต่บ้านโป่งถึงบ้านโพธารามให้เห็นอยู่จนปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าวัดมอญเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเริ่มสวดภาษาไทยมากขึ้น แต่พระและชาวบ้านยังคงพูดภาษามอญได้  มีคัมภีร์ใบลานภาษามอญ และการดำรงประเพณีหลายอย่างอยู่ให้เห็นวัฒนธรรมมอญ และแสดงถึงความพยายามในการดำรงรักษา สืบสานวัฒนธรรมมอญอยู่

บริเวณย่านชุมชนมอญ ได้แก่ บริเวณรอบๆ วัดมอญทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่บ้านโป่งถึงโพธาราม

ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
จากเหนือลงใต้ ได้แก่ มอญบริเวณรอบๆ วัดบ้านโป่ง วัดตาผา วัดใหญ่นครชุมน์  วัดหัวหิน  วัดบ้านหม้อ วัดป่าไผ่ วัดคงคาราม วัดไทรอารีรักษื  วัดโพธาราม และวัดโชค  เป็นต้น  วัดเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งมาก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2538 มีมอญบริเวณวัดคงคาราม ซึ่งผู้คนอยู่หนาแน่นขึ้น ได้อพยพเข้าไปหาที่ทำกินใหม่ตอนใน เข้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีผู้นำคือ พระนิโครรธาภิโยค ผู้ว่าราชการเมืองไทรโยค และสร้างวัดของชุมชนขึ้น คือ วัดดอนกระเบื้อง

ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
จากเหนือลงใต้ ได้แก่ กลุ่มมอญบริเวณ วัดตาล วัดโพธิ์ (วัดโพธิ์โสภาราม) วัดท่าข้าม (วัดมะขาม) วัดม่วง วัดบัวงาม วัดเกาะ วัดม่วงราษฎร์ศรัทธาธรรม และวัดเฉลิมอาสน์ เป็นต้น วัดเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน ตั้งมาก่อนรัชกาลที่  5 เช่นกัน ยกเว้นวัดบัวงาม เพิ่งแยกจากวัดม่วงไปตั้งวัดใหม่ในปี พ.ศ.2473

วัดมอญ 2-3 วัดตอนใต้ในเขตบ้านโพธาราม ต่อมาได้ขยายชุมชนเข้าไปในทางตะวันตกบริเวณบ้านชำแระ ตั้งวัดของชุมชนขึ้นคือ วัดชัยรัตน์ ในปี พ.ศ.2443

ชาวมอญได้อพยพมาอยู่บริเวณนี้ ตั้งแต่สมัยอยุธยา แล้วอพยพมาในสมัยธนบุรีอีก และอพยพมาจำนวนมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์



อ่านเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 22-23)
อ่านต่อ >>

ชุมชนคนไทยในอดีตจากบ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน


ชุมชนคนไทยในอดีตแถบนี้จะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แทรกกระจายเป็นจุดๆ ริมแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่ง ถึงบ้านเจ็ดเสมียน  โดยมีวัดไทยเป็นศูนย์กลาง

ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
จากเหนือลงใต้  ได้แก่ วัดมะเดื่อ (หรือวัดอุทุมพรวนาราม) บริเวณนี้เรียกว่า "บ้านกล้วย" หรือในเอกสารในรัชกาลที่ 4 เรียกว่า "บ้านสวนกล้วย" ระบุมีวัดสำคัญคือ "วัดกล้วย" เป็นวัดคนไทย มีมานานก่อนรัชกาลที่ 4 แล้ว บริเวณนี้อยู่ใต้ตลาดบ้านโป่งเล็กน้อย  ถัดลงมาเป็นชุมชนมอญตลอดริมฝั่งน้ำ

บริเวณคลองตาคต (ใต้วัดบ้านหม้อ) คือชุมชนไทยอีกจุด อาศัยน้ำแม่น้ำแม่กลอง และคลองนี้ทำนา ทำสวน ทำไร่ มานานแล้ว (มักจะข้ามฟากแม่น้ำไปทำบุญวัดขนอนวัดไทย) ถัดลงมาเป็นชุมชนมอญอีก จนถึงใต้ตลาดโพธาราม จึงมีกลุ่มคนไทยมากขึ้น  วัดโพธิ์ไพโรจน์ วัดจอมปราสาท วัดกลาง วัดวิหารสูง  วัดมณีโชติ ล้วนเป็นวัดไทย ชุมชนไทย แต่เก่าก่อน 

ถัดลงมาอีกสามวัด มีคนไทยปะปนกับเขมร คือ วัดตึกหิรัญราษฎร์  วัดสนามชัย และวัดเจ็ดเสมียน

ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
จากเหนือลงใต้ บริเวณชุมชนไทย ได้แก่ บริเวณบ้านเบิกไพร บริเวณคุ้งพยอม (รอบคุ้ง และในคุ้งพยอม) มีวัดโพสฆราวาส (วัดโพธิ์บัลลังก์) เป็นวัดศูนย์กลาง (บริเวณนี้ตรงกับ "บ้านกล้วย" ชุมชนคนไทยฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ) ถัดลงมาเป็นชุมชนคนมอญ จนถึงวัดขนอน

วัดขนอน เป็นย่านชุมชนไทย (บริเวณนี้ตรงข้ามอีกฝั่ง คือ ชุมชนไทยบริเวณคลองตาคต) ถัดลงมาเป็นชุมชนมอญตลอดลงมาถึงใต้วัดเฉลิมอาสน์  บริเวณบ้านคลองควาย บ้านวังคา วัดท่าหลวงพล บ้านน้ำตก เป็นบริเวณชุมชนคนไทย (ฝั่งแม่น้ำตรงข้ามเป็นชุมชนคนไทยที่ไปมาหาสู่กันตลอด คือ วัดโพธิ์ไพโรจน์ลงไปจนถึงวัดมณีโชติ)

ถัดลงมาเป็นชุมชนไทยปะปนกับเขมร คือ ย่านวัดบางโตนด และวัดสมถะ (ฝั่งตรงข้ามคือ วัดตึกหิรัญราษฎร์ และวัดเจ็ดเสมียนที่มีคนไทยปะปนกับเขมร)

ชุมชนคนไทยเมื่ออยู่ในระบบไพร่ ขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองราชบุรี และมักได้รับการดูแลความสงบเรียบร้อยเสมอ เมื่อเลิกระบบไพร่ คนไทยในบริเวณนี้เป็นอิสระ แต่ก็ยังคงนิยมทำนาทำสวนเป็นส่วนใหญ่เช่นเดิม และเข้ากับกลุ่มคนอื่นๆ ได้

***********************************************

ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์  จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 29-32)


อ่านต่อ >>