ลาวเคยเป็นกลุ่มที่อยู่ที่อยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่อำเภอบ้านโป่ง ลงไปถึงอำเภอโพธารามมาก่อน เมื่อชาวมอญอพยพลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ และโดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มอญ 7 เมือง พาผู้คนลงมาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลองบริเวณตั้งแต่บ้านโป่งถึงโพธารามได้ ลาวจึงอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนในแผ่นดินเข้าไปทั้งสองฝั่ง เข้าไปอยู่ที่ดอน ซึ่งปกติลาวบางกลุ่มมักชอบอยู่ที่ดอนและใกล้หนองน้ำ
ลาวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านโป่งถึงบ้านเจ็ดเมียนนี้ส่วนใหญ่ อพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ในฐานะเชลยที่ถูกกวาดต้อนมา ให้มาตั้งถิ่นฐานเพื่อเป็นกำลังในการทำสงครามกับพม่า
นอกจากนี้ยังมีลาวที่อพยพมาขากเพชรบุรี สุพรรณบุรี และภาคกลางของไทย เข้าไปตั้งถิ่นฐานหาที่ทำกินในในลุ่มน้ำแม่กลองบริเวณนี้ด้วย ลาวบริเวณนี้มีหลายกลุ่มทั้ง ลาวยวน ลาวเวียง ลาวโซ่ง ลาวพวน และลาวครั่ง แต่ละกลุ่มต่างตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มๆ ลาวเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน ต่างกลุ่มจึงมีวัดของตนเป็นศูนย์กลางชุมชน
ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
จากเหนือลงใต้ ย่านชุมชนลาวอยู่ถัดเข้าไปตอนใน ได้แก่บริเวณบ้านกำแพงใต้ (วัดกำแพงใต้ พ.ศ.2127 สมัยอยุธยา) บ้านเลือก (วัดบ้านเลือก พ.ศ.2343 รัชกาลที่ 1) บ้านบางลาน (วัดบางลาน พ.ศ.2360 รัชกาลที่ 2) บ้านดอนทราย (วัดดอนทราย พ.ศ.2377 รัชกาลที่ 3) บ้านกำแพงเหนือ (วัดกำแพงเหนือ พ.ศ.2400 รัชกาลที่ 4) บ้านหนองอ้อ (วัดหนองอ้อ พ.ศ.2401 รัชกาลที่ 4) บ้านหนองหูช้าง บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านมะขาม บ้านหุบมะกล่ำ (วัดหุบมะกล่ำ พ.ศ.2420 รัชกาลที่ 5) บ้านวัดโบสถ์ (วัดโบสถ์ พ.ศ.2434 รัชกาลที่ 5) บ้านฆ้อง (วัดบ้านฆ้อง พ.ศ.2443 รัชกาลที่ 5) และบ้านสิงห์ (วัดบ้านสิงห์ พ.ศ.2446 รัชกาลที่ 5) เป็นต้น
ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
จากเหนือลงใต้ ด้านนี้มีชุมชนลาวเก่าแห่งหนึ่ง และเป็นแห่งเดียวริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คือ ชุมชนลาวบริเวณวัดสร้อยฟ้า (พ.ศ.2332 รัชกาลที่ 1) ชุมชนลาวถัดเข้ามาตอนใน ได้แก่ บ้านหนองปลาหมอ (วัดหนองปลาหมอ พ.ศ.2463 รัชกาลที่ 5) บ้านหนองคา บ้านหนองสองห้อง (วัดหนองสองห้อง) บ้านหนองกลางดง (วัดหนองกลางดง พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 5) บ้านอู่ตะเภา บ้านวังมะนาว เป็นต้น
ชุมชนลาวนี้ส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกมากกว่าฝั่งตะวันตก เพราะฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มกว่า มีแหล่งน้ำเหมาะต่อการตั้งถิ่นฐาน ทำนา ทำไร่
ลาวกลุ่มต่างๆ มักมีความเชื่อเรื่องผี นับถือผีอย่างแน่นแฟ้น และนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ทำให้กลุ่มลาวต่างๆ ทั้งลาวยวน ลาวเวียง ลาวโซ่ง และลาวครั่ง ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมที่สืบทอดกันมาแต่สมัยบรรพบุรุษได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มลาวต่างผูกพันกัน และยังดำรงวัฒนธรรมของกลุ่มอยู่บ้างจนถึงทุกวันนี้
**************************************************
ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 35-38)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น