ชุมชนคนไทยในอดีตแถบนี้จะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แทรกกระจายเป็นจุดๆ ริมแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่ง ถึงบ้านเจ็ดเสมียน โดยมีวัดไทยเป็นศูนย์กลาง
ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งซ้าย)
จากเหนือลงใต้ ได้แก่ วัดมะเดื่อ (หรือวัดอุทุมพรวนาราม) บริเวณนี้เรียกว่า "บ้านกล้วย" หรือในเอกสารในรัชกาลที่ 4 เรียกว่า "บ้านสวนกล้วย" ระบุมีวัดสำคัญคือ "วัดกล้วย" เป็นวัดคนไทย มีมานานก่อนรัชกาลที่ 4 แล้ว บริเวณนี้อยู่ใต้ตลาดบ้านโป่งเล็กน้อย ถัดลงมาเป็นชุมชนมอญตลอดริมฝั่งน้ำ
บริเวณคลองตาคต (ใต้วัดบ้านหม้อ) คือชุมชนไทยอีกจุด อาศัยน้ำแม่น้ำแม่กลอง และคลองนี้ทำนา ทำสวน ทำไร่ มานานแล้ว (มักจะข้ามฟากแม่น้ำไปทำบุญวัดขนอนวัดไทย) ถัดลงมาเป็นชุมชนมอญอีก จนถึงใต้ตลาดโพธาราม จึงมีกลุ่มคนไทยมากขึ้น วัดโพธิ์ไพโรจน์ วัดจอมปราสาท วัดกลาง วัดวิหารสูง วัดมณีโชติ ล้วนเป็นวัดไทย ชุมชนไทย แต่เก่าก่อน
ถัดลงมาอีกสามวัด มีคนไทยปะปนกับเขมร คือ วัดตึกหิรัญราษฎร์ วัดสนามชัย และวัดเจ็ดเสมียน
ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งขวา)
จากเหนือลงใต้ บริเวณชุมชนไทย ได้แก่ บริเวณบ้านเบิกไพร บริเวณคุ้งพยอม (รอบคุ้ง และในคุ้งพยอม) มีวัดโพสฆราวาส (วัดโพธิ์บัลลังก์) เป็นวัดศูนย์กลาง (บริเวณนี้ตรงกับ "บ้านกล้วย" ชุมชนคนไทยฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ) ถัดลงมาเป็นชุมชนคนมอญ จนถึงวัดขนอน
วัดขนอน เป็นย่านชุมชนไทย (บริเวณนี้ตรงข้ามอีกฝั่ง คือ ชุมชนไทยบริเวณคลองตาคต) ถัดลงมาเป็นชุมชนมอญตลอดลงมาถึงใต้วัดเฉลิมอาสน์ บริเวณบ้านคลองควาย บ้านวังคา วัดท่าหลวงพล บ้านน้ำตก เป็นบริเวณชุมชนคนไทย (ฝั่งแม่น้ำตรงข้ามเป็นชุมชนคนไทยที่ไปมาหาสู่กันตลอด คือ วัดโพธิ์ไพโรจน์ลงไปจนถึงวัดมณีโชติ)
ถัดลงมาเป็นชุมชนไทยปะปนกับเขมร คือ ย่านวัดบางโตนด และวัดสมถะ (ฝั่งตรงข้ามคือ วัดตึกหิรัญราษฎร์ และวัดเจ็ดเสมียนที่มีคนไทยปะปนกับเขมร)
ชุมชนคนไทยเมื่ออยู่ในระบบไพร่ ขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองราชบุรี และมักได้รับการดูแลความสงบเรียบร้อยเสมอ เมื่อเลิกระบบไพร่ คนไทยในบริเวณนี้เป็นอิสระ แต่ก็ยังคงนิยมทำนาทำสวนเป็นส่วนใหญ่เช่นเดิม และเข้ากับกลุ่มคนอื่นๆ ได้
***********************************************
ที่มาข้อมูล
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง บ้านโป่ง-บ้านเจ็ดเสมียน. ราชบุรี : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง.(หน้า 29-32)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น